6/9/57

ทุ่มทับจับหักในมวยคาดเชือก      

โดย แหลม  ศักย์ภูมิ

เนชันสุดสัปดาห์  ปีที่ 10  ฉบับท ี่ 515  ...เมษายน 2545

..........ข่าวความพ่ายแพ้ของนักมวยไทย ที่เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเล ไปชกถึงดินแดนแห่งมังกร จีนแผ่นดินใหญ่นั้นอาจทำให้ บรรดาเซียนมวยในไทยหลาย ๆ คนถึงกลับกระเป๋าฉีก ส่วนคนไทยอีกหลายหมื่นคนต้องผิดหวัง จนอดตั้งข้อสงสัยไปต่าง ๆ นานาไม่ได้... ไม่ว่าในแง่ มวยไทยไร้ศิลปะไปแล้วหรือ?กติกาทำให้มวยไทยเสียเปรียบหรือไม่?  และที่หนักไปกว่านั้นคือ แพ้เพราะมีการพนัน!

การตีมวยแบบโบราณ 
..........การที่ทางผู้จัดประกาศว่า จะนำเอาศิลปะมวยไทย ไปเผยแพร่ให้คนจีนได้รู้จัก ถึงกับจะนำไปเปิดค่ายมวยไทยสอนในจีน แต่...ผลการชกที่ผ่านมา ทีมนักมวยไทยพ่ายแพ้อย่างน่ากังขา แล้วก็ยังไม่สามารถแก้ทาง มวย ถีบ ทุ่ม ของฝ่ายปรปักษ์ได้เลย  
นักมวยจีนก็อาจหาญ ถึงกับไม่กลัวการเตะ ที่ได้ชื่อว่ารุนแรงหนักหน่วงของมวยไทย ที่ทั่วโลกต่างยอมรับ โดยตรงเข้ากอดรัด กระชากขา นักมวยฝ่ายไทยให้ล้มลงไป เพื่อเรียกเก็บคะแนนได้ทุกครั้ง
ความที่กีฬามวยปล้ำของชนพื้นเมืองชาวมองโกล ได้รับความนิยม จึงทำให้นักมวยจีนมีความถนัดในการปล้ำ,กอด,รัด,ดึง ด้วยเรี่ยวแรงมากกว่าการต่อสู้ชิงคม แลกอวัยวุธ หมัด เท้า เข่า ศอกอย่างมวยไทย

..........หากจะกล่าวถึงกติกา ก็คงเหมือนกติกามวยไทยทั่วไป เพียงแต่เพิ่มการทุ่มการกอดรัดขัดแข้งขัดขาเข้ามา ซึ่งก็น่าจะมีการปรับปรุงกติกามวยไทยให้ยอมรับการปล้ำกอดรัดได้แล้ว ...เพราะกีฬาการต่อสู้ในหลาย ๆ  ประเภทรอบ ๆ บ้านเรานั้นมีการทุ่ม การจับหัก ฝึกกันอยู่ทั่วไป  

ในเกมการแข่งขันก็อนุญาตให้นักมวยสามารถใช้ศอก,เข่าได้  แต่เพราะฝ่ายนักมวยจีนยังใช้ศอกเ,ข่า ไม่ค่อยเชียวชาญ  จึงเน้นไปที่การถีบ เตะ แล้วจู่โจมเข้ากอดรักฟัดเหวี่ยงนักมวยไทยเป็นหลัก  ข้างฝากนักมวยไทย ถึงจะมีอาวุธครบเครื่อง แต่ก็ไม่ได้เปรียบนักมวยฝ่ายตรงข้ามสักเท่าไหร่  เพราะขาดทักษะการทุ่มทับ ทั้งๆ ที่หลักการเหล่านี้มีอยู่แล้วในมวยโบราณอยู่แล้ว 

ครูทอง มวยไชยา - ลูกไม้ ขุนยักษ์จับลิง
..........การปล้ำกอดการทุ่มในมวยเวทีก็มีให้เห็นอยู่บ้าง ศอกเข่าที่ใช้แม้ไม่ได้คะแนน แต่ก็เป็นที่หวั่นเกรงของนักมวยจีนอยู่ไม่ใช่น้อย  ทั้งยังเป็นไม้สั้นคอยสกัดการเข้าประชิดตัวได้เป็นอย่างดี ควรจะใช้ในระยะที่นักมวยจีนเข้ากอดรัด ให้ปรปักษ์ถอยห่างให้อยู่ในระยะของอวุธยาวอย่าง ต่อย เตะ ถีบ ยัน ได้ถนัด การกอดรัดและทุ่มอย่างที่นักมวยจีนกระทำนั้น ไม่ใช่ไม่มีทางแก้...

..........อย่างในสมัย รัชกาลที่ 6 สนามมวยสวนกุหลาบ พ.ศ.2462 นายยัง หาญทะเล (มวยโคราช) ในอุปการะของ เสด็จในกรมหลวงชุมพร - เขตรอุดมศักดิ์ ได้ลงสนามประลองเชิงกับ จี๊ฉ่าง (จีนฉ่าง) มวยจีนจากเกาะฮ่องกง โดยสโมสรสามัคคีสยามจัดหามา 

..........ในยกที่ 3 นายยัง หาญทะเล หวดแข้งเข้าที่รักแร้ด้านหัวใจ มังกรจีนจนคะมำหน้าผวาเข้ากอดเข่านายยัง คู้อยู่  นายยัง ระดมหมัดเหวี่ยงควายอย่างจักรผัน เข้าที่กกหู คู่อริจนเลือดซึมออกมา แล้วทิ่มหมัดขวาเข้าโหนกแก้ม ตามด้วยแข้งซ้ายเข้าที่หน้า มังกรร้ายถึงกับถลาลงพื้นเวที ให้กรรมการนับสิบ พ่ายแพ้ นายยัง หาญทะเล ไปในยกที่ 3 เมื่อ 81 ปีที่ผ่านมา


..........ทุ่ม ทับ จับ หัก ในมวยคาดเชือกนั้นเป็นกลมวยชั้นสูง ที่ผู้ฝึกจะต้องเรียนรู้พื้นฐาน การบริหารร่างกายเพื่อพาหุยุทธ์พร้อมฝึกฝน ท่าย่างสามขุมตามแบบของแต่ละครู เรียก 'ท่าครู' รวมทั้งแม่ไม้ต่าง ๆ เช่นการออกอาวุธ ป้องปัดปิดเปิด ป้องกัน ตอบโต้ ให้เชี่ยวชาญดีแล้ว จึงจะสามารถแตก แม่ไม้กล ลูกไม้ กลรับ กลรุก ล่อหลอก หลบหลีก ทั้งยังต้องฝึกซ้ำแล้วซ้ำอีกเพื่อให้ใช้ออกไป จึงจะเกิดความคมเด็ดขาด รุนแรง ท่วงท่าลีลางดงาม เข้มแข็งดังใจ

มวยยุคสวนกุหลาบ ร.6
..........เช่น ท่าครูมวยไชยา (ท่าย่างสามขุมคลุมแดนยักษ์) นั้นได้ชื่อว่ามีความรัดกุมเฉียบคม จนสามารถชนะการแข่งหน้าพระที่นั่งสมัย ร.5 เมื่อคราวจัดให้มีงาน ณ ทุ่งพระเมรุ ป้อมเผด็จดัสกร กรุงเทพฯ 
นักมวยผู้ได้รับยศเป็นถึงท่านหมื่นคนนั้นคือ นายปล่อง จำนงทอง * ที่สามารถใช้ 'ท่าเสือลากหาง' โจนเข้าจับ ทุ่มทับจับหักปรปักษ์จนมีชัย ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น 'หมื่นมวยมีชื่อ' 
ท่าที่ใช้จับทุ่มรับการจู่โจมด้วย เตะ ถีบ เข่า อย่าง ' ถอนยวง' นั้น สามารถทุ่มโยนปรปักษ์ออกไป หรือจับยกให้หัวให้ปักพื้นแล้วทับด้วยก้นหรือเข่าได้ 
หากเป็นการรุกด้วย หมัด นั้นให้แก้ด้วย ' ขุนยักษ์พานาง' หรือ 'ขุนยักษ์จับลิง'  หากรุกด้วย ศอก แก้ด้วย 'พระรามหักศร' และยังมีท่าอื่น ๆ อีกมาก ที่ครูบาอาจารย์แต่โบราณท่านบัญญัติไว้ ทั้งมีชื่อ และมิได้กำหนดชื่อเอาไว้ ทั้งหมดนี้ผู้ใช้จำต้องรู้ เคล็ดป้องปัดปิดเปิด และกลประกบประกับจับรั้ง เป็นท่าร่วมเพื่อเข้าจับหักด้วยมือ หรือ เกี้ยวกวัดด้วยท่อนแขน ฯลฯ

..........หลักการทุ่มทับจับหักแต่โบราณมีอยู่และใช้ได้จริง หากแต่จะขอกล่าวโดยสังเขป เพื่อยืนยันถึง ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทยที่สร้างสรรค์ศิลปะการต่อสู้ เพื่อปกป้องบ้านเมืองในยามศึกสงคราม 
หากว่าอนุชนรุ่นหลังจะใส่ใจ หันกลับมาส่งเสริมศึกษาวิทยาการโบราณเอาไว้บ้างละก็ นักมวยไทยก็คงจะยืนชูมืออย่างภาคภูมิใจบนสังเวียนผืนผ้า ไม่ถูกรัดถูกทุ่มจนเกือบตกเวทีเป็นอีกแน่ และเหล่า
เทรนเนอร์ก็คงไม่ถึงกับต้องระดมสมองกันคิดแก้ท่าถีบของนักมวยจีน โดยละเลยที่ถามครูผู้เฒ่าที่นั่งเฝ้าทอดถอนใจอยู่ข้างหลังปล่อยให้ภูมิความรู้ความสามารถที่ท่านได้สั่งสมมาจากประสบการณ์ จากครูเก่ารุ่นต่อรุ่น กลับต้องสูญค่าไป

..........ชัยชนะของ ครูยัง หาญทะเล และ กับคุณค่าแห่งศาสตร์และศิลป์ในมวยหมัดพันด้ายดิบ คงจะเป็นดังหนึ่งภาพลายไทย หลุดลอกในโบสถ์เก่า... 
รอวันที่จะลบเลือนหาย หรือได้รับการบูรณะซ่อมแซม ให้กลีบมาอวกความงดงาม พร้อมทรงคุณค่า เพื่ออนุชนรุ่นต่อไป จักได้ภาคภูมิใจในความเป็น'ไท'แห่งสยามประเทศอีกครั้ง


ภาพโดย อ.วัลลภิศร์ สดประเสริฐ

* หมื่นมวยมีชื่อ (นายปล่อง จำนงทอง) ลูกศิษย์และนักมวยในจวน พระยาวจีสัตตยารักษ์ (ขำ ศรียาภัย) เจ้าเมืองไชยา ได้รับการคัดเลือกเข้า ตีมวย หน้าพระทีนั่งในสมัยรัชกาลที่ 5 ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ กรมขุนมรุพงศ์สิริพัฒน์ ณ ด้านใต้ของทุ่งพระเมรุ (สนามหลวง) และได้ชัยชนะในครั้งนั้น   
นายปล่อง จำนงทอง ยังถือว่าเป็น ครู คนหนึ่งของ ปรมาจารย์เขตร์ ศรียาภัย อีกด้วย 

.....................................................

 ประวัติครูมวยโคราช

หมื่น ชงัดเชิงชก  (แดง  ไทยประเสริฐ)   เดิมชื่อนายแดง ไทยประเสริฐ ลูกศิษย์ของพระเหมสมาหาร  เจ้าเมืองโคราช เข้าไปชกและสร้างชื่อเสียงในพระนครในสมัยรัชกาลที่ 5 , 6 มีเอกลักษณ์ในการชกมวยคือใช้ด้ายดิบคาดหมัดขึ้นไปจนถึงข้อศอก ต่อย เตะวงกว้าง และใช้หมัดเหวี่ยงควายชกชนะคู่ต่อสู้ ได้รับพระราชทินนามจากในหลวงรัชกาลที่ 5 ที่ พระองค์ทรงพอพระทัยในชั้นเชิงและลวดลายไหวพริบปฏิภาณ  ตลอดจนการคล่องตัวของนายแดงเป็นอย่างมากจนทรงแต่งตั้งและพระราชทาน นามให้ว่า “หมื่นชงัดเชิงชก“  ได้รับพระมหา กรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ไม่ต้องเสียส่วยสาอากร แม้กระทั่งทำผิดก็ให้กรมการบ้านเมืองพิจารณาลดหย่อนผ่อนโทษตามสมควร 
  
นายยัง  หาญทะเล  เป็นนักมวยจากเมืองโคราชลูกศิษย์พระเหมสมาหาร ที่เข้าไปชกในกรุงเทพพร้อมกับหมื่นชงัดเชิงชก ทับ  จำเกาะตู้  ไทยประเสริฐ  พูน  ศักดา ฯลฯ ได้รับเมตตาจากเสด็จในกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ให้เข้าไปฝึกซ้อมมวยที่วังเปรมประชากรจนมีชื่อเสียง ด้วยความซื่อสัตย์และความกล้าหาญ จึงเป็นที่พอพระราชหฤทัยจากพระองค์เป็นอย่างยิ่ง ได้รับฉายาว่าพญาเสือโคร่ง หรือเสือลายพาดกลอนจากที่ราบสูง มีความสามารถในการใช้เท้าในการเตะ ถีบ และศอก มีความจงรักภักดีและมีความกล้าหาญ ปฏิภาณไหวพริบดีเลิศ 
  
นายทับ  จำเกาะ เป็นนักมวยที่อยู่หมู่บ้านเดียวกันกับแดง ไทยประเสริฐ ยังหาญทะเล ตู้  ไทยประเสริฐ    บัว วัดอิ่ม (นิลอาชา)ฯลฯ เริ่มฝึกซ้อมมวยจากหมู่บ้านเกิดของตนเองร่วมกับนักมวยโคราชที่มีชื่อเสียง อื่นๆที่กล่าวมาแล้ว ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากเสด็จในกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ที่ทรงอุปการะและให้มาฝึกซ้อมที่วังเปรมประชากรในกรุงเทพร่วมกับนักมวยโคราช อื่นๆ ได้รับฉายาว่าเสือร้ายจากที่ราบสูง เข้ามาชกในกรุงเทพฯประมาณ พ.ศ.2464  ศึกษาชั้นเชิงการชกเพิ่มเติมจาก  กรมหลวง ชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ และน.ท.พระชลัมภ์พิสัย เสนีย์ ร.น. เป็นนักมวยเตะและต่อยวงกว้างแบบเหวี่ยงควาย ขึ้นชกมวยโดยไม่เคยแพ้ใครเลย เคยชกหน้าพระที่นั่งในสมัยรัชกาลที่ 6 จนพระองค์ไม่ทรงทอดพระเนตรการชกมวยอีกต่อไป   
  
นายตู้  ไทยประเสริฐ เป็นน้องชายของแดง ไทยประเสริฐ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากเสด็จในกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ให้เข้าไปฝึกมวยอยู่วังเปรมประชากรร่วมกับนักมวยโคราชคนอื่นๆในสมัยนั้น มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วเช่นกัน ครูผู้ฝึกสอนคนแรกคือขุนสุระราญ ครูมวยอีกท่านหนึ่ง คือพระเหมสมาหาร อายุ 14 ปี สมัครเป็นทหารแตรวงที่นครราชสีมา  อายุ 18 ปี ได้เลื่อนยศเป็นสิบตรี ระหว่างนั้นเมื่อว่างจากงานราชการ ฝึกซ้อมมวยกับพระเหมสมาหาร สมัยที่มีการชกมวยเก็บเงินบำรุงเสือป่าที่สนามมวยสวนกุหลาบ ได้ขึ้นชกกับมวยจีนชื่อไวไต้ฉิน ในวันเดียวกับที่นายยัง  หาญ ทะเล ขึ้นชกกับจี๊ฉ่าง เลิกชกในปี พ.ศ.2468

* ขอบคุณ - ข้อมูลจากเว็บ http://www.abhakara.com/