7/9/57

เปรียบมวย

บทความจากนิตยสาร add Free Magazine
ภาพโฆษณา - คู่มวย สมัยสวนกุหลาบ ร.6



ป้องกันและตอบโต้ 
(ด้วยเคล็ดวิชา มวยไชยา)   


โดย... แหลมทอง ศิษย์ครูทอง    
                               
             


            นักมวยคาดเชือกเมื่อจะ ตีมวย กัน (สมัยก่อนยุคเลิกคาดเชือกนั้นใช้คำว่า ตีมวย หรือ ปล้ำมวย ครับ ไม่ได้ใช้คำว่า ชกมวย อย่างปัจจุบันนี้)  นักมวยที่สมัครใจเข้าตีมวยก็จะมายืนรวมๆ กันต่อหน้านายสนามผู้จัด  แต่ละคนก็จะเลือกคู่ชกขอตนโดยกะดูด้วยสายตาว่าตนจะชกกับนักมวยคนไหน  ก็จับคู่กันไว้  โดยมากก็จะเลือกเอาที่รูปร่างพอฟัดพอเหวี่ยงกันได้  ก็ถือว่าใช้ได้แล้วครับ (คำว่าพอฟัดพอเหวี่ยงที่ใช้กันติดปากก็มาจากภาษามวยนี่แหละครับ  เพราะนักมวยยุคกระโน้นตีมวยปล้ำมวยกอดรัดฟัดเหวี่ยงกันจริงๆ ไม่ใช่แค่ปล้ำตีเข่าอย่างทุกวันนี้) 

                   หากว่ารูปร่างผิดกันมากนัก  ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจจะขอจับเนื้อจับตัวคู่ชกเพื่อดูความแข็งแรงของกล้ามเนื้อก่อนตัดสินใจได้  บางครั้งแค่ได้ยินชื่อเสียงกันก็พอแล้วครับ  ประเภทสิงห์เหนือเจอเสือใต้  เก่งต่อเก่งก็อยากลองปะหมัดกันดูสักครั้ง  ชาวบ้านก็อยากเห็นนักมวยคู่นี้ตีกันสักอันสองอันพอเป็นที่สำราญใจ (อัน ที่ว่านี้คือเครื่องบอกเวลา  ไว้คราวหน้าจะเล่าให้ฟังครับ)


                   นักมวยยุคก่อนเลิกคาดเชือกนี่  เรื่องน้ำหนัก อายุคน  อายุมวย  เขาไม่เกี่ยงกันครับ  หากสมัครใจชกก็ขึ้นเวทีกันเลย  จะสงสารก็แต่นักมวยสมัยนี้แหละครับ  กว่าจะได้ขึ้นชกต้องรีดตัวแล้วรีดตัวอีก  อดข้าว อดน้ำก็แล้ว  ทั้งวิ่ง, อบ, กระโดดเชือก  เสียเหงื่อกันจนอ่อนเปลี้ยเพลียแรงขาสั้นขาพับ  กว่าจะได้น้ำหนักอย่างที่ต้องการ  หากชั่งไม่ผ่านเดี๋ยวจะพาลไม่ได้ชก  ลูก, เมีย, แม่ก็อด  จะเดือดร้อนไปตามๆ กัน  น่าเห็นใจครับ... ลองมองกลับไปถึงยุคโบราณ  ไม่มีเครื่องชั่งน้ำหนักก็เปรียบมวยกันแบบง่ายๆ อย่างนี้แหละครับ.   

สนามมวยโรงเรียนสวนกุหลาบ