29/2/55

โรยแก้ว? คลุกทราย?


ท่าครูมวยไชยา
บทความจากนิตยสาร add Free Magazine

ป้องกันและตอบโต้ (ด้วยเคล็ดวิชา มวยไชยา)   
...โดย แหลมทอง ศิษย์ครูทอง


โรยแก้ว 1.  (ฉบับที่ 7 / ก.ค. 2554)





           ...ความเชื่ออย่างหนึ่งเกี่ยวกับมวยไทยว่า...  สมัยโบราณนักมวยคาดเชือกจะใช้ยางไม้ทาที่หมัดคาดเชือกแล้วโรยด้วยเศษแก้ว  หรือผงแก้ว  เมื่อจะขึ้นชกต่อย  หรือนักมวยเอาหมัดคาดเชือกชุบยางเหนียวคลุกกับทรายก็ว่า  ฟังดูออกจะโหดร้ายป่าเถื่อนจังเลยนะครับ

                   มวยโบราณนั้นชกหน้าพระที่นั่งใครขืนใช้กลโกงเอาเปรียบคู่ต่อสู้ มีหวังโดนเฆี่ยนหลังลาย  แถมยังมีกฎกติกาตราไว้ว่า  ก่อนการตีมวย  นักมวยจะต้องเอาหลังหมัดถูกับแก้มตัวเองต่อหน้ากรรมการและคู่ชกครับ  เพื่อเป็นการแสดงความบริสุทธิ์ใจ  อีกทั้งนักมวยถือว่าตนมีดี  มีศักดิ์ศรี  หากทำอย่างนั้นมีหวังได้อายไปทั้งบาง  แล้วยังเสียชื่อมาถึงครู  ผู้คนเขารู้เขาก็รังเกียจเอานะครับ

                   ปรมาจารย์เขตร์  ท่านเล่าไว้ว่า  ตั้งแต่อยู่ในวงการมวยมา (สมัย ร.6) ไม่เคยเห็นการโรยแก้วคลุกทรายเลย  หรือทำอย่างอื่นอย่างใดกับหมัดคาดเชือกเลย  ถามครูมวยหลายๆ ท่านก็ไม่มีใครรู้เรื่องนี้  ที่มีเขียนไว้บ้างก็แค่  นักมวยบางคนจะเคี้ยวข้าวเหนียวพอแหลกแล้วพ่นไว้หลังหมัด  พอข้าวแห้งเป็นตังก็จะแข็งขึ้นบ้าง  แต่นั้นก็เป็นเรื่องเล่าในยุคหลังๆ แล้วช่วงก่อนเลิกคาดเชือกไม่นาน ยุคกระนู้นไม่มีครับ    



                   มวย... เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ประจำชาติไทย  ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นลีลาท่าย่างเยื้องก็งดงาม  ยามเมื่อออกอาวุธหมัดเท้าเข่าศอกก็ใช้ได้อย่างเด็ดขาดจะแจ้ง หนักหน่วงรุนแรงเป็นที่น่าเกรงขาม  มวยจากประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 3  ของศิลปะป้องกันตัวที่คนทั่วโลกอยากเรียน  นั่นเป็นความภาคภูมิใจของคนในชาติมากพอแล้ว  
...ผมไม่อยากให้ความเชื่อบางเรื่องมาทำลายภาพลักษณ์อันดีงามของศิลปะประจำชาติไทยครับ. 


...ลองเปลี่ยนมาคลุกทรายแทนดีกว่า  เคยมีคนช่างสงสัยเขาลองทำดูครับ (ที่ผมไม่ทำเอง  ก็เพราะผมไม่เชื่อไงครับ) เขาให้การว่าพอเขาชกหมัดคาดเชือกลงกาวแล้วคลุกทรายออกไป ฝ่ายตรงข้ามป้องกัน, ปัดหมัดที่ชกหรือเกิดการกระแทกกันของหมัดทั้งสองคน  ...ทรายที่คลุกไว้ก็มาอันกระเด็นเข้าตาเข้าปากทั้งคู่เลย  อืม อย่างนั้นยิ่งแย่ไปกันใหญ่กลายเป็นว่ามองไม่เห็นทั้งคู่  แทนที่จะได้เปรียบจากทรายกลับทำให้เสียเปรียบหนักเข้าไปอีก ...อภิโถอภิถัง


                ตกลงก็ยังหาวิธีทำหมัดคาดเชือกโรยแก้วคลุกทรายไม่ได้เช่นเคย... เรื่องหมัดคาดเชือกโรยแก้ว, คลุกทราย จริงหรือ?  ยังไม่จบครับ  ยังมีบทสรุปเรื่องนี้อีกทีในฉบับหน้า  แล้วมาตามล่าหาความจริงเรื่องกันครับ.

ท่าครู และ ท่าเสือลากหาง  -  มวยไชยา


................................................................................................


โรยแก้ว : 2  (ฉบับที่ 9 / ก.5. 2554)


           ฉบับที่แล้วคุยค้างเอาไว้  ดูจะไม่เป็นธรรมกับกลุ่มที่เชื่อว่ามีการโรยแก้ว, คลุกทรายที่หมัดคาดเชือกก่อนชก  บางก็อ้างว่า... ที่ทำอย่างนั้นก็เฉพาะศึกคู่อาฆาต  ตกลงกันว่าเอาถึงตาย  ไม่ได้ชกหน้าพระที่นั่งฯ  แต่ชกแบบชาวบ้านร้านตลาด  หรือคู่มวยต้องการจะลองวิชาอาคมความเหนียวกัน  ครับผมรับข้อนั้นได้  
....ถ้าเชื่อว่าการโรยแก้ว, คลุกทรายมีจริงๆ  ก็ต้องมีวิธีทำ... (หรือมีสูตรขั้นตอนการทำซึ่งครูบาอาจารย์สายใดสายหนึ่งสั่งสอนสืบต่อกันต่อๆ มา ...แต่ยังไม่มีหลักฐานเหล่านี้เลยครับ)  งั้นก็มาพิจารณาร่วมกันครับ

         เมื่อคาดเชือกเสร็จ  จะเอาอะไรทาที่หลังหมัดดีล่ะ?  กาวยางอีซี่  กาวตราช้าง  หรือกาวแห้งเร็วติดทนนานไม่ต้องหานะครับ ยุคนั้นไม่มี  ที่จะหาได้ก็คงจะเป็น  ชัน  ที่เอาไว้ยาเรือหรือพวกยางไม้ต้มเคี่ยวจนข้น  เอาละที่นี่ก็  แก้ว  ล่ะครับ  สมัยนั้นคงหาเศษแก้วไม่ได้ง่ายๆ  เป็นแน่  ทั้งราคาหาซื้อคงจะหลายเบี้ยหลายเฟื้องอยู่  ยิ่งสมัยอยุธยาคนในรั้วในวังยังต้องใช้คันฉ่องส่องหน้ากันอยู่เลยครับ  
...ถ้าใช้ เปลือกหอย เอามาตำๆ ใช้แทนคงพอจะหาได้  แล้วจะเริ่มทาเมื่อไหร่ครับ  ตั้งแต่ตื่นเช้าเลยชกบ่ายโมง  ทาแล้วนั่งรอให้ชัน, ยางแห้งจับตัวดี  หากระหว่างนั้นเกิดปวดท้องปวดไส้ไม่ลำบากแย่หรือครับ (ครูทองท่านว่าไว้ครับ)  แก้วหรือเปลือกหอย คมหนึ่งทิ่มออกอีกคมก็ทิ่มเข้านะครับ ยังไงก็ระวังไว้บ้างก็ดี  คิดๆ แล้วผมว่าดูไม่สมเหตุสมผลกันเคยครับ 



  
        ลองเปลี่ยนมาคลุกทรายแทนดีกว่า  เคยมีคนช่างสงสัยเขาลองทำดูครับ (ที่ผมไม่ทำเอง  ก็เพราะผมไม่เชื่อไงครับ) เขาให้การว่าพอเขาชกหมัดคาดเชือกลงกาวแล้วคลุกทรายออกไป ฝ่ายตรงข้ามป้องกัน, ปัดหมัดที่ชกหรือเกิดการกระแทกกันของหมัดทั้งสองคน  ทรายที่คลุกไว้ก็มาอันกระเด็นเข้าตาเข้าปากทั้งคู่เลย  อืมอย่างนั้นยิ่งแย่ไปกันใหญ่กลายเป็นว่ามองไม่เห็นทั้งคู่  แทนที่จะได้เปรียบทรายกลับทำให้เสียเปรียบหนักเข้าไปอีก ...อภิโถอภิถัง

         ตกลงก็ยังหาวิธีทำหมัดคาดเชือกโรยแก้วคลุกทรายไม่ได้เช่นเคย... เรื่องหมัดคาดเชือกโรยแก้ว, คลุกทราย จริงหรือ?  ยังไม่จบครับ  ยังมีบทสรุปเรื่องนี้อีกทีในฉบับหน้า  แล้วมาตามล่าหาความจริงเรื่องกันครับ. 





                                                .............................................

โรยแก้ว : 3 (มวย กีฬาสุภาพบุรุษ) (ฉบับที่ 10 / ต.ค. 2554)


                   เพราะเห็นว่าสำคัญจึงเน้นย้ำถึง 3 ตอน  ด้วยเกรงว่าความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับมวยคาดเชือกจะคงอยู่ไปอีกนานนั่นเองครับ

                   ปรมาจารย์เขตร์  ท่านเป็นลูกเจ้าเมืองไชยา  ขึ้นมาเป็นมหาดเล็กในรัชกาลที่ 6  ได้ทันเห็นการตีมวยครั้งสำคัญเมื่อครั้งจัดงานบำรุงกองเสือป่า ณ สนามมวยสวนกุหลาบ  และท่านยังมีโอกาสได้รู้จักนักมวยจากหลายสายหลายภาค  อีกทั้งได้ร่ำเรียนวิชามวยจาก  ครูมวยคนสำคัญในยุคนั้นคือ  อ.กิมเส็ง  ทวีสิทธิ์  ครูใหญ่กรมพละศึกษา  ปรมาจารย์เขตร์ท่านคลุกคลีอยู่ในวงการมวยมาตลอดจนถึง  ยุคสนามมวยลุมพีนี และสนามมวยราชดำเนิน 



...เมื่อวัยเกษียรท่านปรมาจารย์เขตร์ได้พบ ครูตู้  ไทยประเสริฐ  นักมวยโคราชที่เคยขึ้นชกมวยครั้งสนามมวยสวนกุหลาบ (ร.6)  ทั้งสองท่านได้พูดคุยกันถึงเรื่องที่ลือๆ กันมาว่าหมัดคาดเชือกว่ามีการโรยแก้วนั้นจริงหรือไม่?  ครูตู้ท่านยืนยันว่าไม่มี  ทั้งไม่เคยรู้ไม่เคยเห็นว่ามีการโรยแก้ว, คลุกทรายกับหมัดคาดเชือกเลย  ตลอดเวลาที่ท่านอยู่ในวงการมวยมา


...คะเนอายุอานามท่านครูทั้งสองก็อาวุโสด้วยวัยวุฒิ  ทั้งพร้อมด้วยคุณวุฒิ  ครูมวยสองท่านนี้  เกิดในยุคไม่น้อยไปกว่า รัชกาลที่ 5 ระยะเวลาจากนับจากนั้นถึงวันนี้ก็กว่า 100 ปี  ครูตู้  ท่านเป็นมวยโคราช (ภาคอีสาน) ส่วน ท่านปรมาจารย์เขตร์  ท่านเรียนมวยไชยา (ภาคใต้)  ได้รับการยกย่องจากคนในวงการมวยว่าเป็น ปรมาจาราย์มวยไทย และท่านยังเป็นศิษย์ของ อ.กิมเส็ง  ครูมวยพระนคร ซึ่งเรียนมวยมาจากครูเขียวซึ่งเป็นครูมวยแถบสระบุรี-ลพบุรี  (ภาคกลาง) 


       
...จากประสบการณ์อันยาวนานของ 2 ครูมวยผู้เฒ่า  ที่ย่ำเท้าอยู่ในวงการมวยมาจนผ่านยุคสมัยเลิกคาดเชือก (ร.7) จวบจนปัจจุบัน  ถ้านับระยะเวลาก็มากกว่า 100 ปี  ความรู้ในแวดวงการมวยทั้งสองท่านก็ครอบคลุมไปแล้ว 3 ภูมิภาคของประเทศ  ทั้งสองท่านต่างยืนยันว่าไม่เคยพบ หรือได้ยินเรี่องพวกนี้เลย  จากข้อสรุปทั้งหมด 3 ตอนที่กระผมได้รวบรวมมาคงเป็นการยืนยันฟันธงได้ว่า...
             
 ...มวยโบราณคาดเชือก-ถักหมัด  ไม่มีการโรยแก้วหรือคลุกทรายแต่อย่างใด  คงเป็นเพียงความเชื่อที่เล่าลือกันไปเท่านั้นเอง  และที่สำคัญ มวยไทยเป็นกีฬาของสุภาพบุรุษ ครับ.



โดย... แหลม ศักย์ภูมิ   







ขอบคุณภาพประกอบ โดย อ.วัลลภิศร์ สดประเสริฐ.