พ่อท่านมา (วัดทุ่งจับช้าง อ.พุมเรียง จ.สุราษฎร์ธานี)
ประวัติของท่านนั้นไม่มีการกล่าวหรือบันทึกไว้มากนักทราบเพียงว่า พ่อท่านมาเป็นครูมวยใหญ่ ทีเดินทางมายัง เมืองไชยา (บางก็ว่าท่านเป็น ขุนศึก หรือ แม่ทัพ ออกบวช และธุดงค์มาจากกรุงเทพฯ) เมื่อราว๑๖๕ ปีมาแล้ว สมัย ร.๓ ตอนปลาย ท่านเชี่ยวชาญวิชาการต่อสู้และมีวิชาอาคม แก่กล้า เคยมีเรื่องเล่าว่ามีช้างตกมันอาละวาด ไม่มีผู้ใดปราบได้ พ่อท่านมาได้บริกรรมคาถาแล้วใช้กะลามะพร้าวครอบจับช้างเชือกนั้นไว้ ชาวบ้านจึงได้สร้างวัดขึ้นที่ท้องทุ่งแห่งนั้นขนานนามว่า วัดทุ่งจับช้าง
.....ศิลปะมวยของท่านได้รับการถ่ายทอด สืบต่อ สู่ชาวเมืองไชยาและครูมวยต่อมาอีกหลายๆท่าน นับแต่พระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ ศรียาภัย) ปฐมศิษย์เบื้องต้นผู้เป็นครูมวยของหมื่นมวยมีชื่อ ( ปล่อง จำนงทอง ) ครูนิล ปักษี ครูอินทร์ ศักดิ์เดช โดยเฉพาะ หมื่นมวยมีชื่อ ที่ได้รับราชทานนามนี้จาก ล้นเกล้าในรัชกาลที่ ๕ นับเป็นเกียรติแก่ เมืองไชยา ยิ่งนัก
.....แม้ทุกวันนี้ยังมีนักมวย นักศึกษาและประชาชนเดินทางไปกราบไหว้ และรำถวายมือ หน้าเจดีย์บรรจุอัฐิพ่อท่านมา วัดทุ่งจับช้าง อำเภอพุมเรียง สุราษฎร์ธานี อยู่เสมอ ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๔๔ หลวงพ่อไสว อินทะวังโส ได้มาอยู่จำพรรษาที่วัด และดูแลพัฒนา บริเวณวัด สร้างหลังคากันแดดฝนคลุมรักษา สถูปบรรจุอัฐิพ่อท่านมาไว้ โดยมี ชาวบ้าน และคุณยายท่านหนึ่ง ซึ่งมีศักดิ์เป็น หลานสาวของท่าน ปรมาจารย์เขตร ศรียาภัย ได้ร่วมกันบำรุงรักษาวัดอยู่ ต้นปี พ.ศ.๒๕๔๕ ได้ข่าวว่า หลวงพ่อไสว จะเดินทางไปจำวัดอยู่ที่นครศรีธรรมราช เป็นที่น่าเสียดาย วัดทุ่งจับช้าง ก็คงจะเป็นวัดร้าง ไร้การดูแลอีกครั้ง
*สถูปบรรจุอัฐิ พ่อท่านมา ได้รับการบูรณะใหม่
พระยาวจีสัตตยารักษ์ (ขำ ศรียาภัย)
พระยาวจีสัตยารักษ์ เดิมชื่อ ขำ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๑๑ แรม ๑๒ ค่ำ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๘๗ ตรงกับรัชกาล พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ นายขำมีบุตร ๕ คน คือ ชื่อ ศรียาภัย พระยาประชุมพลขันธ์ นายจวน นายเขต และนางเฉลิม
.....นายขำ ศรียาภัย ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในรัชกาลที่ ๔ ได้ฝึกหัดราชการอยู่ในสำนักของสมเด็จเจ้าพระยา บรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) สมุหพระกลาโหม นายขำเป็นผู้มีอัธยาศัยโอบอ้อมอารี และเป็น ผู้มีความรู้ความชำนาญ หลายด้าน เช่น การค้าขาย การจับ และฝึกหัดช้าง และยังมีความสามารถในการพูดภาษาจีน ซึ่งเป็นประโยชน์ในการติดต่อ ค้าขายเป็นอย่างมาก จนได้รับบรรดาศักดิ์เป็นหลวงราชานุชิต ผู้ช่วยราชการเมืองไชยา ในรัชกาลที่ ๔ พ.ศ. ๒๔๑๒
.....ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ท่านได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระยาศรีราชสงคราม ปลัดเมืองไชยา และดำรงตำแหน่งนี้ เป็นเวลา ๑๐ปี มีความชอบจากการไปปราบจลาจลชาวจีนที่เมืองภูเก็ต จึงได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทิพยาภรณ์ช้างเผือก ชั้นที่ ๕
.....พ.ศ. ๒๔๒๒ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยาวิชิตภักดี ผู้ว่าราชการเมืองไชยา ทำความดีความชอบจนได้รับ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มัณฑยาภรณ์มงกุฎสยาม ชั้นที่๓ นิภาภรณ์ช้างเผือก ชั้นที่๓ เหรียญดุษฎีมาลา
.....พ.ศ.๒๔๒๒ ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบบมณฑล พระยาวิชิตภักดี ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยาไวยวุฒิวิเศษฤทธิ์ จางวางเมืองไชยา
.....พ.ศ. ๒๔๔๙ ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยาวจีสัตยารักษ์ และได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลสุราภรณ์ มงกุฎสยาม ชั้นที่๒ และเหรียญจักรพรรดิมาลาเป็นเกียรติยศ
.....เนื่องจากพระยาวจีสัตยารักษ์ เป็นผู้ชำนาญเกี่ยวกับหัวเมืองชายทะเลปักษ์ใต้ ดังนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ พระยาวจีสัตยารักษ์จึงได้ทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์นำเสด็จ และเมื่อมีทางรถไฟสายใต้ ได้เป็นผู้นำตรวจทางรถไฟสายใต้เป็นครั้งแรก ตั้งแต่มณฑลปัตตานี ถึงเมืองเพชรบุรี นอกจากนี้ ยังได้สร้างคุณงามความดีอันเป็นประโยชน์อีกมากมาย
.....พระยาวจีสัตยารักษ์ และบุตรหลานได้สร้างคุณงามความดีเป็นที่ประจักษ์มิใช่เฉพาะแต่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานีเท่านั้น หากแต่ได้สร้างคุณงามความดีให้กับประเทศชาติโดยส่วนรวมอีกด้วย
.....พระยาวจีสัตยารักษ์เป็นผู้มีสุขภาพแข็งแรงมาโดยตลอด ท่านถึงแก่กรรมด้วยโรคลมปัจจุบัน เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๗ รวมอายุได้ ๗๐ปี ปัจจุบันมีสถูปซึ่งบรรจุอัฐิของท่านและบุตรหลานในตระกูลศรียาภัย ณ เมืองไชยา(เก่า) ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
หลวงวิลาศดรุณกร (อั้น สาริกบุตร)
*ภาพนี้ถ่ายประมาณปี พ.ศ. 2492 ก่อนท่านจะเสีย
จากหนังสืองานศพของท่านครูหลวงฯ ท่านเสียไปเมื่อ ปี พ.ศ. 2492 ครับ ที่ จ. นครปฐม
...ครูหลวงวิศาลดรุณกร (อั้น สาริกบุตร) อดีตครูฝ่ายปกครอง โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ( พ.ศ. 2461)
ก่อนที่จะมาอยู่ สวนฯ ท่านเคยเป็น ครูใหญ่ อยู่ที่ โรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย (ครูใหญ่คนแรก),โรงเรียนปทุมคงคา
แล้ว ถึงย้ายมาอยู่ ที่ โรงเรียนสวนกุหลาบ
...ครูเขตร์ ท่านได้พูดถึง ครูหลวงวิศาลดรุณกร ในหนังสือปริทัศน์มวยไทยความว่า..." ท่าย่างสามขุม ของหลวงวิศาลดรุณกร (อั้น สาริกบุตร) อาจารย์โรงเรียนสวนกุหลาบฯ พ.ศ.๒๔๖๔ (ซึ่งเป็นศิษย์เอกของ ปรมาจารย์ พระไชยโชคชกชนะ (อ้น) เจ้ากรมทนายเลือกครูมวยและครูกระบี่กระบองผู้กระเดื่องนาม ในรัชสมัย ร. ๕) และปรมาจารย์ ขุนยี่สานสรรพยากร (ครูแสงดาบ) ครูมวยและครูกระบี่กระบอง ลือชื่อ ในสมัย ร.๖ นั้น มีความกระชับรัดกุม ตรงตามแบบท่าย่างสามขุมของ ท่านมา (หลวงพ่อ) ครูมวยแห่งเมืองไชยา ท่านนับเป็นต้นสายของมวยไชยา มรดกอันล้ำค่าของคนไทย "
...ครูเขตร์ ยอมรับนับถือว่า ครูหลวงวิศาลฯ ท่านคือครูมวยคนหนึ่งของท่าน และจากการกล่าวถึงท่านย่างสามขุมคลุมแดนยักษ์ ในมวยไชยา อันเป็นท่าย่างสามขุมหลักนั้น ยังมีความละม้ายคล้ายคลึงกับ ท่าย่างสามขุม เดิมมวยแบบวังหลวง ซึ่งครูหลวงวิศาลฯ ได้รับการถ่ายทอดมาจาก พระชัยโชคชกชนะ ครูมวย
...นี่เป็นจุดเชื่อมหนึ่งที่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ การสืบทอดสายวิชาว่า มวยไชยา มีรากวิชามาจาก มวยในกรุงรัตน์โกสินทร์ อย่างแท้จริง
*ภาพ ปรมาจารย์เขตร์ ยกย่างสามขุมคลุมแดนยักษ์ (ถ่ายเมื่ออายุประมาณ ๔๕ ปี)
อ.กิมเส็ง (สุนทร ทวีสิทธิ์)
หากจะกล่าวถึง มวยไชยา แล้วไม่กล่าวถึง อาจารย์กิมเส็ง ทวีสิทธิ์ ก็คงจะทำให้ ประวัติมวยไชยา ขาดหายไปบางส่วน อาจารย์กิมเส็ง ท่าน เกิดเมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๓๓ ยานนาวา กรุงเทพฯ ช่วงอายุ ๑๔ ปีท่านได้เดินทางไปศึกษาที่ สิงคโปร์ และเริ่มเรียน ยูโด ฟันดาบ มวยสากล ที่นั้น จนได้พบกับ มร.เบเก้อร์ เจ้าของร้านขนมปัง ซึ่งเป็นครูมวยสากลฝีมือดี ได้สอนด้านทฤษฏีและปฏิบัติของ N.S.Rule จนทำให้อาจารย์กิมเส็ง มีความรู้ความชำชาญ ในมวยสากล เป็นอย่างมาก
.....และอาจารย์ท่านยังได้เรียน วิชามวยไทย ดาบไทย จากครูเขียว ในป่าเขตแดนสระบุรีกับอยุธยาอยู่ ๒ ปี จึงทำให้อาจารย์เชี่ยวชาญวิชาการต่อสู้ของไทยมากขึ้น (นอกจากวิชาที่กล่าวมาแล้ว อาจารย์ยังมีความรู้ใน วิชามวยชวาของชาวอินโดนีเซีย ที่เรียกว่า " เพนต์จ๊าก " มวยจีน "เก่ยคุ้ง "
และ ยูยิตสู การจับหักของชาวญี่ปุ่น อีกด้วย จากข้อเขียน ของ อ.เขตร์ ) ช่วงอายุ ๒๕ ปี จึงได้เริ่มชกมวยไทย หลังจากนั้นไม่นานอาจารย์ก็เริ่มสอนมวยไทยและสากล ที่บ้านข้างวัดดอน ยานนาวา มีลูกศิษย์มากมายชกชนะมากกว่าแพ้ ลูกศิษย์ท่านได้เป็น ทั้งแชมป์มวยไทยมวยสากลก็มากจนเกิดเป็น " คณะทวีสิทธิ์ "
.....พ.ศ.๒๔๗๒-๒๔๘๒ พระยาคทาธรบดี ได้เริ่มจัด สนามมวยสวนสนุกขึ้นภายในบริเวณ สวนลุมพินี และได้ชักชวนให้อาจารย์ กิมเส็งดำเนินการจัดมวย และเป็นกรรมการ จึงทำให้ชื่อเสียงของ อาจารย์กิมเส็ง เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง
.....ช่วงก่อนปี พ.ศ. ๒๔๗๗ กระทรวงธรรมการ( กระทรวงศึกษาธิการ )จึงได้เชิญ อาจารย์กิมเส็ง เข้าสอนวิชามวยที่โรงเรียนของกระทรวง แต่งตั้งเป็น อาจารย์พละของกรมพละศึกษากลาง มีลูกศิษย์มากมายกระจายอยู่ทั่วประเทศ ที่สอนมวยและเปิดค่ายมวย ก็มาก จึงทำให้ " ท่ารำพรหมสี่หน้า " กับ " ท่าย่างสุขเกษม " แพร่หลายกลายเป็นมรดก ที่เห็นนักมวยไทยใช้รำบนเวทีกันอยู่จนทุกวันนี้ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ " หงายหมัด " ซึ่ง อาจารย์ เขตร์ ท่านได้กล่าวไว้ว่า " ผิดแผกกับการตั้งท่าของมวยภาคต่างๆทั่วประเทศ " ท่าหมัดหงายไม้มวยนี้ได้เลือนหายไปจากเวทีมวยไทยปัจจุบัน อาจารย์กิมเส็ง( สุนทร ทวีสิทธิ์ ) ได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็งปอด เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฏคม พ.ศ. ๒๕๐๔ สิริอายุรวม ๗๒ ปี
ปรมาจารย์เขตร์ ศรียาภัย
ปรมาจารย์ เขตร ศรียาภัย สืบตระกูลมาจากนักรบโดยลำดับดังนี้
.....พระยาชุมพร (ซุ่ย ซุ่ยยัง) ตาทวด (พ่อของย่า) เป็นแม่ทัพไทยตีเมืองมะริดและเมืองตะนาวศรีมาขึ้นประเทศไทย
ปลายรัชกาลที่ ๒ พ.ศ.๒๓๖๗ มีลูกเขยชื่อปานซึ่งได้เป็นที่พระศรีราชสงคราม
.....พระศรีราชสงคราม (ปาน ) ปลัดเมืองไชยา (เป็นปู่) มีลูกชายชื่อขำ ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในรัชกาลที่ ๔ รับใช้
สอยในสำนักสมเด็จเจ้าาพระยาศรีสุริยวงศ์ ที่สมุหพระกลาโหมและได้รับพระราชทานสัญญาบัตร เป็นหลวงสารานุชิต ผู้ช่วยราชการเมืองไชยาเมื่ออายุ ๒๕ ปี
.....หลวงสารานุชิต (ขำ ศรียาภัย) ได้พระราชทานสัญญาบัตรเป็นพระศรีราชสงคราม ปลัดเมืองไชยา (แทนบิดาซึ่งถึงแก่กรรม) เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๒
.....พระศรีราชสงคราม (ขำ ศรียาภัย) ได้ช่วยปราบจีนจลาจลที่เมืองภูเก็ตในคราวเดียวกันกับหลวงพ่อแช่ม เจ้าอาวาสวัดฉลอง ซึ่งพวกจีนติดสินบน หัว ๑๐๐๐ เหรียญ จีนจลาจลแตกพ่ายหนีกระจัดกระเจิงลงเรือใบใหญ่ ออกทะเล จึงได้รับปูนบำเหน็จความดีความชอบเลื่อยศเป็น พระยาวิชิตภักดีศรีพิชัยสงคราม ผู้ว่าราชการเมืองไชยา พ.ศ.๒๔๒๒ พวกจีนจลาจลที่ภูเก็ตหนีลงเรือแต่ไม่กลับเมืองจีน ได้เที่ยวปล้นตามหัวเมือง ชายทะเล ตั้งแต่ปลายอณาเขตไทย ทางใต้จนถึงเมืองเกาะหลัก คือประจวบคีรีขันท์ เรืองรบหลวง ๒ ลำ มีกำลังพล ๒๐๐ ต้องประจำรักษาเมืองภูเก็ต จึงเป็นหน้าที่ของเจ้าเมืองทำการปราบปราม เวลานั้นพระยาวิชิตภักดีศรีพิชัยสงคราม เป็นเจ้าเมืองไชยา แต่มีหน้าที่รักษาเมืองชุมพร และ กาญจนดิษฐ์ ด้วย ได้คิดสร้างลูกระเบิดมือขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย รวบรวมพลอาสาออกปราบปรามโจรจีนสลัดในอ่าวไทยเป็นเวลา ๓ ปี
โจรจีนสลัดสงบราบคาบ จึงได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างๆเป็นบำเหน็จโดยลำดับ จนถึง พ.ศ.๒๔๔๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนเป็นพระยาไวยวุฒิวิเศษฤทธิ เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม เพื่อประกาศความดีความชอบที่ได้สร้างลูกระเบิดมืออันเป็นอาวุธแปลกไม่เคยเห็นกันในสมัยนั้น
.....ต่อมาอีก ๗ ปี คือวันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๔๙ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานสัญญาบัตรให้เลื่อนเป็น พระยาวจีสัตยารักษ์ มีตำแหน่งเป็นผู้กำกับการถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา จนกระทั่งวันถึงแก่กรรม วันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๔๕๗
.....เขตร ศรียาภัย เป็นลูกคนสุดท้องของพระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ ศรียาภัย)
.....เกิดเมื่อวันอาทิตย์ ที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๕ ณ ตำบลหนองช้างตาย (ต.ท่าตะเภา ในปัจจุบัน) อำเภอท่าตะเภา จังหวัดชุมพร ในสมัยเด็กอายุประมาณ ๑๐ ขวบ เขตร ศรียาภัย ได้เข้าโรงเรียนมัธยมวัดสุทธิวราราม อยู่ที่บ้านทวาย ชอบกีฬาประเภทออกแรง ทุกชนิด เช่น พายเรือ ว่ายน้ำ วิ่งแข่ง ตีจับ ฯลฯ ได้เป็นที่ ๑ ในชุดวิ่งเปรี้ยวชิงชนะเลิศกับชุดโรงเรียนวัดประทุมคงคา ได้ถ้วยและ โรงเรียนมัธยมวัดสุทธิวราราม มีชื่อทางวิ่งเปรี้ยวแต่นั้นมา
ได้ลาออกเพื่อเข้าโรงเรียนอัสสัมชัญเมื่ออายุได้ ๑๓ ปี เพราะทนถูกรังแกจากนักเรียนที่ใหญ่กว่าไม่ไหว ณ โรงเรียนฝรั่งแห่งใหม่กลับร้ายกว่า โรงเรียนเดิมเพราะมีนักเรียนมากกว่า ๓ เท่า เขตร ศรียาภัย ต้องทนมือทนตีนอยู่ ๓ ปี อันเป็นปฐมเหตุแห่งความพยายามศึกษาวิชาต่อสู้ ซึ่งมีครูดี ๆ รวม ๑๒ ท่าน คือ
๑. พระยาวจีสัตยารักษ์ ( ขำ ศรียาภัย ) เจ้าเมืองไชยา -บิดาบังเกิดเกล้า
๒. ครูกลัด ศรียาภัย ผู้บังคับการเรือกลไฟรัศมี -อา
๓. หมื่นมวยมีชื่อ ( ปล่อง จำนงทอง )
๔. ครูกลับ อินทรกลับ
๕. ครูสอง ครูมวยบ้านนากะตาม อำเภอท่าแซะ
๖.ครูอินทร์ สักเดช ครูมวยบ้านท่าตะเภา
๗. ครูดัด กาญจนากร ครูมวยบ้านหนองทองคำ
๘. ครูสุก เนตรประไพ ครูมวยบ้านแสงแดด
๙. ครูวัน ผลพฤกษา ครูมวยตำบลศาลเจ้าตาแป๊ะโป
๑๐. อาจารย์ ม.จ.วิบูลย์สวัสดิวงศ์ สวัสดิกุล
๑๑. ครู (กิมเส็ง)สุนทร ทวีสิทธิ์ ปรมาจารย์มวยมีชื่อในพระนคร อาจารย์สอนมวยกรมพละศึกษา
๑๒. อาจารย์ หลวงวิศาลดรุณากร
.....เมื่ออายุ ๑๙ ปี พ.ศ. ๒๔๖๓ อาจารย์ เขตร ได้ไปดูการฝึกมวยที่บ้าน อาจารย์กิมเส็ง และเกิดความสนใจใน " หงายหมัด " ของค่ายทวีสิทธิ์ อีกหนึ่งปีต่อมาในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๖๔ อาจารย์เขตร จึงได้นำดอกไม้ธูปเทียน ผ้าเช็ดหน้า ผ้าขาวม้า และขันน้ำ ไปกราบขอเป็นศิษย์กับ อาจารย์กิมเส็ง ในวัน พฤหัสบดีอันเป็น " วันครู " ตามคติโบราณ ได้อยู่ร่ำเรียนรับใช้ ไปมาหาสู่กับ อาจารย์กิมเส็ง เป็นเวลา ๔๐ ปี จนครูท่านสิ้น จึงนับได้ว่าวิชามวยไชยาสายอาจารย์เขตร นั้นมีส่วนผสมวิชามวยของท่านอาจารย์กิมเส็ง อยู่อย่างแยบยลจนแยกกันไม่ออก
.....นอกจากการเล่นกีฬา หมัดหมวย ฟุตบอล และ วิ่งแข่ง กระโดดสูงกระโดดยาว รวมทั้งมวยสากลกับมองซิเออร์ ฟโรว์ นักมวยคู่ซ้อมของยอร์ช กาปังติเอร์ แล้ว เขตร ศรียาภัยยังสามารถ แจวเรือพายและถือท้ายเรือยาว (เรือดั้ง เรือแซง) เรือยนต์ เรือกลไฟ ขับรถยนต์ ขี่มอเตอร์ไซ รวมทั้งการขี่ม้า ขี่และฝึกช้างตามแบบที่เรียกว่าคชกรรมอีกด้วย
..... ช่วงปี พ.ศ. ๒๔๙๑ - ๒๔๙๔ อาจารย์เขตร ได้มีส่วนร่วมก่อตั้งสนามมวยธรรมศาสตร์ ขึ้นแทนสนามมวยราชดำเนินที่ไม่มีหลังคากันฝน ล่วงถึง ๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๙๖ จึงได้เข้าเป็นผู้จัดการ สนามมวยลุมพินี อยู่หลายปี จนช่วงอายุ ๖๙-๗๐ ปี คุณอาจินต์ ปัญจพรรค์ บรรณาธิการ และอาจารย์ สงบ สอนสิริ จึงได้ชักชวนให้ท่านเขียน " มวยไทยปริทัศน์ " ในนิตยสาร ฟ้าเมืองไทย เล่าถึงเรื่องมวยคาดเชือกในยุค สนามสวนกุหลาบ สนามมวยหลักเมืองสนามมวยสวนสนุก เกร็ดความรู้เรื่องมวยไทย และความรู้เรื่องมวยของชนชาติอื่นๆ จนได้รับการยอมรับและได้รับการ เรียกขาน ท่านเป็น " ปรมาจารย์ " มวยไทย อาจารย์เขตร ศรียาภัย ถึงแก่กรรม ด้วยโรคหัวใจ ล้มเหลว เมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๒๑ สิริอายุรวม ๗๕ ปี
*ประวัติการทำงานของ ปรมาจารย์เขตร์ ศรียาภัย
..... ท่านปรมาจารย์เขตร์ ศรียาภัย นับว่าได้ว่าเป็นบุคคลตัวอย่าง ในด้านความรู้ ความเสียสละ และความซื่อสัตย์ ผลงานอันนับได้ว่าเป็นเหมือน รางวัลชีวิต ที่ท่านได้กระทำไว้ มีนับไม่ถ้วน ทางคณะผู้จัดทำ จึงใคร่ของกล่าวถึงบางส่วน โดยย่อดังต่อไปนี้
ประวัติการรับราชการ (คัดจากสำเนาสมุดประวัติประจำตัวข้าราชการ กรมโยธาเทศบาล กระทรวงมหาดไทย)
.....พ.ศ. ๒๔๖๗ พนักงานรักษาสนาม และต้นไม้กองถนน
.....พ.ศ. ๒๔๗๙ – ๒๔๘๔ รักษาการตำแหน่งหัวหน้าแผนกสารบรรณกองช่าง
.....พ.ศ. ๒๔๘๕ - ๒๔๙๐ หัวหน้าแผนกกลางกองโยธา
.....พ.ศ. ๒๔๙๑ – ๒๔๙๕ หัวหน้ากองรักษาความสะอาด (ปี ๒๔๙๕ ได้รับทุนไปดูงานการรักษาความสะอาดใน อเมริกา ยุโรป และออสเตเลีย)
.....พ.ศ. ๒๕๐๐ ดำรงตำแหน่งเลขานุการกรม กรมโยธาเทศบาล
.....พ.ศ. ๒๕๐๔ – ๒๕๐๖ ดำรงตำแหน่งรองปลัดเทศบาล สำนักปลัดเทศบาลนครกรุงเทพฯ และพ้นจากหน้าที่เนื่องจากครบเกษียณอายุเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๖ หลังจากครบเกษียณอายุแล้ว ท่านได้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาของเทศบาล นครกรุงเทพฯ อยู่อีกระยะหนึ่ง
ราชการพิเศษ (คัดจากสำเนาสมุดประวัติประจำตัวข้าราชการ กรมโยธาเทศบาล กระทรวงมหาดไทย)
.....พ.ศ. ๒๕๐๑ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนคร แต่งตั้งให้เป็น เทศมนตรีชั่วคราว ดำเนินกิจการของ เทศบาลไปจนกว่าจะได้แต่ตั้งคณะเทศมนตรีใหม่
.....พ.ศ. ๒๕๐๓ กรรมการดำเนิน การตรวจสอบและสะสางบัญชี การเงินของกรมโยธาเทศบาล
ความดีความชอบ (คัดจากสำเนาสมุดประวัติประจำตัวข้าราชการ กรมโยธาเทศบาล กระทรวงมหาดไทย)
.....พ.ศ. ๒๔๗๖ ช่วยเหลือการปราบกฎบวรเดช ได้รับการชมเชยตามหนังสือเลขาธิการ คณะรัฐมนตรี ที่ ม. ๑๐๔๒๐/๗๗ ลงวันที่ ๒๖/๑๑/๒๔๗๗
.....พ.ศ. ๒๕๐๑ ในระหว่างปฏิบัติราชการเป็นเทศมนตรีชั่วคราว ได้ปฏิบัติงานบังเกิดผลดีแก่ท้องถิ่นอย่างยิ่ง ได้ตั้งใจช่วยเหลือท้องถิ่น เพื่อประโยชน์ ของประชาชนจำนวนกว่าหนึ่งล้านคน จนเป็นผลดีอย่างมากถึงวันส่งมอบงานนับได้ว่าเป็นผลดีแก่ราชการของกระทรวงมหาดไทย ในส่วนรวม ได้รับการชมเชยตามหนังสือ กระทรวงมหาดไทยที่ ๗๓๐๓/๒๕๐๑ ลงวันที่ ๑๐/๕/๒๕๐๑
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
.....พ.ศ. ๒๔๖๘ เหรียญบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ ๗
.....พ.ศ. ๒๔๗๕ เหรียญสมโภชพระนคร ๑๕๐ ปี
.....พ.ศ. ๒๔๘๔ จัตุรถาภรณ์มงกุฎไทย
.....พ.ศ. ๒๔๖๘ จัตุรถาภรณ์ช้างเผือก
.....พ.ศ. ๒๔๙๒ ตริตาภรณ์มงกุฎไทย
.....พ.ศ. ๒๔๙๓ เหรียญบรมราชาภิเษก , เหรียญรัตนาภรณ์
.....พ.ศ. ๒๔๙๙ ตริตาภรณ์ช้างเผือก
.....พ.ศ. ๒๕๐๓ ทวิติยาภรณ์มงกุฎไทย
เหรียญเกียรติคุณ
.....พ.ศ. ๒๔๖๐ เหรียญ JUNIORS TOURNAMENT 1917 *
.....พ.ศ. ๒๔๗๗ เหรียญ SEMPR FIDELIS “สัตย์ซื่อตลอดกาล” **
* โรงเรียนอัสสัมชัญ ได้ถูกบังคับให้เข้าร่วมกันแข่งขันฟุตบอล ระหว่างนักเรียนอังกฤษ กับ นักเรียนฝรั่งเศล ทางโรงเรียนได้คัดตัว ปรมาจารย์เขตร ศรียาภัย เป็นหนึ่งในทีมนักเรียนอังกฤษ และในการแข่งครั้งนั้น นักเรียนอังกฤษ เป็นฝ่ายชนะ เ ป็นจุดเริ่มที่ทำให้ ปรมาจารย์เขตร ศรียาภัย รักและสนใจกีฬาฟุตบอล และร่วมแข่งขันในนาม โรงเรียนอัสสัมชัญ ตลอดมา และยังมีถ้วยรางวัลและเหรียญ อื่น ๆ อีกมาก ที่ท่านได้จากการแข่งขัน ในฐานะ นักฟุตบอลของสมาคมศิษย์เก่าอัสสัมชัญ
** เนื่องในโอกาส ฉลองโรงเรียนอัสสัมชัญ ครบ ๕๐ ปี ปรมาจารย์เขตร ศรียาภัย จึงได้รับรางวัล เหรียญทองคำ ซึ่งจัดสร้างขึ้นเป็นพิเศษ คำจารึกเป็นภาษาละตินว่า CA - SEMPR FIDELIS ซึ่งแปลเป็นไทยว่า “สัตย์ซื่อตลอดกาล” อันถือว่าเป็นเหรียญเดียว ที่ทางโรงเรียนมอบให้นักเรียน นับตั้งแต่สร้างโรงเรียนมา ตลอดระยะเวลา ๙๐ ปี นับเป็นเกียรติอย่างยิ่ง
* ครูเขตร์ ซ้อมมวยกับบุตรี (ป้าศรีธร)
ครู ทองหล่อ ยาและ (ทอง เชื่อไชยา)
.....ท่านเกิดเมื่อ ๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๗๒ ที่โรงพยาบาล ศิริราช กรุงเทพฯ เมื่อเรียน อยู่ชั้น ป.๖ โรงเรียนวัฒนศิลป์ ประตูน้ำ เริ่มเรียนมวยสากลกับครูประสิทธิ์ นักมวยสากลจากกรมพละ ช่วงอายุ ๑๓-๑๔ ปี ครูได้ออกหาค่ายมวยไทยที่จะเรียน อย่างจริงจัง ครูไปดูอยู่หลายที่ แต่ก็ไม่ถูกใจเพราะแต่ละค่ายนั้น เวลาซ้อมนักมวย จะเจ็บตัวกันมาก ไม่มีการป้องกันตัวเลย ครูจึงได้ไปหัดเรียนมวยไทยกับ ป๊ะลาม ญาติของแม่ แถวซอยกิ่งเพชร มีครูฉันท์ สมิตเวชกับครูชาย สิทธิผล สอน ด้วยว่า เป็นคนร่างเล็ก ผอมบาง จึงถูกเพื่อนๆรังแกอยู่เป็นประจำแต่ก็เรียนอยู่ได้ไม่นาน เพราะถูกเด็กโตกว่ากลั่นแกล้ง หลังจากจบภาคการศึกษา และได้ผ่านชีวิตบู๊ โลดโผน อย่างลูกผู้ชายในยุคนั้นครูทองได้มาทำงานที่ การรถไฟ มักกะสันได้รู้จักกับเพื่อน ของคุณพ่อ ชื่ออาจารย์สามเศียร ได้พูดคุยเรื่องมวยและพาไปพบกับ อาจารย์เขตร ที่บ้าน ครูจึงเริ่มเรียนมวยไชยา ขั้นพื้นฐาน ตามลำดับ เรียนอยู่หลายเดือน จึงคิดจะ ขึ้นชกเวทีเหมือนอย่างรุ่นพี่บ้าง ช่วงนั้น ครูทอง
อายุประมาณ ๑๖ ปี จึงไปขออนุญาต อาจารย์เขตร อาจารย์ท่านก็ดูฝีไม้ลายมือว่าใช้ได้ จึงบอกครูให้ฟิตให้ดีแล้วจะพา ไปชก แต่ครูทองท่านได้แอบไปชกมวยเวที ตามต่างจังหวัดรอบๆกรุงเทพฯ ชนะมากกว่าแพ้ และได้ชกชนะมวยดัง
ฉายาเสือร้ายแปดริ้ว ที่ฉะเชิงเทรา จนเป็นข่าวรู้ถึงอาจารย์เขตร นับแต่นั้นครูทอง จึงได้ชกใน กรุงเทพฯ โดยอาจารย์เขตร จะพาไปเอง ครูทองชกครั้งแรกที่เวที ราชดำเนินกับสมชาย พระขรรค์ชัย ครูทองแพ้ด้วยความตื่นเวทีใหญ่ เมื่อครูทองติดต่อขอแก้มือแต่ฝ่ายสมชาย ไม่ขอแก้มือด้วย มาเลิก ชกมวยเมื่ออายุ ๒๔ ปี เมื่อคุณย่าท่านป่วยหนักและได้ขอร้องให้ครูเลิกชกมวยเวที ครูทอง ก็ให้สัจจะ แต่ขอคุณย่าไว้ว่าจะเลิกต่อยแต่ไม่เลิกหัด คุณย่าท่านก็อนุญาต ครูทอง ได้เรียนมวยกับอาจารย์เขตร อยู่อีกหลายปี จนอาจารย์เขตร ออกปากว่า จะพาไปเรียนกับอาจารย์ใหญ่
.....อาจารย์เขตร จึงฝากครูทอง ให้ไปเรียนวิชาต่อกับอาจารย์ กิมเส็ง ครูทองท่านสนใจเรียนมวยมาก เมื่ออาจารย์ กิมเส็ง ให้ถือดาบไม้และให้ลองเล่นกับท่านดูโดยบอกว่า ก็เล่นเหมือนกับเล่นมวย นั้นแหละ ลองอยู่สักพัก อาจารย์กิมเส็ง ท่านก็บอกว่า ใช้ได้นี่ ด้วยเหตุนี้ ครูทอง จึงไม่ได้เรียนดาบกับอาจารย์กิมเส็ง ซึ่งครูมักพูดว่าเสียดายอยู่เสมอๆ (แต่ครูทองก็มีความรู้เรื่อง การฟันดาบอยู่ไม่น้อย) เรียนอยู่สัก ๓ ปี อาจารย์กิมเส็ง ท่านก็สิ้น ครูทองได้มาช่วยเพื่อนชื่อไหว สอนมวยอยู่ราชบูรณะ และเริ่มสอนมวยอย่างจริงจัง เมื่อย้ายบ้านมาอยู่ที่ ย่านบางนา มีทหารเรือมาฝึกกับท่านจำนวนมาก ครูทองจึงได้ไป ขออนุญาต อาจารย์เขตร ว่าจะสอน ครั้นพูดจบอาจารย์เขตร ท่านก็เหวี่ยงแข้งเตะมาที่ครูทองทันที ครูทองก็รับปิดป้อง ว่องไว ตามที่ได้เรียนมา อาจารย์เขตร จึงว่า อย่างนี้สอนได้ และได้ให้ครูทองมาเรียนวิชาครูเพิ่มเติม
.....ครูทอง ท่านใช้ ชื่อค่ายมวยว่า "ค่ายศรีสกุล" ต่อมาใช้ "ค่ายสิงห์ทองคำ" แต่ซ้ำกับค่ายอื่น ท่านจึงไปกราบขอชื่อ ค่ายมวยจากอาจารย์เขตร ซึ่งก็ได้รับความกรุณาโดยอาจารย์ได้ตั้งชื่อให้ว่า " ค่ายไชยารัตน์ "ด้วยเหตุว่าครั้งเรียน วิชามวยไชยากับ อาจารย์เขตร ศิษย์ทุกคนจะใช้สกุลในการขึ้นชกมวยว่า " เชื้อไชยา " ครูทอง มีลูกศิษย์ หลายรุ่น แต่ละรุ่นท่านก็สอนไม่เหมือนกัน บางคนจะชกมวยสากล บางคนจะชกมวยไทยเวที ท่านจะสอนแตกต่างกัน ตามโอกาส
.....จนเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๖ ครูทอง ท่านได้ไปเผยแพร่มวยไทยคาดเชือกที่ ธนาคารกรุงเทพ สาขาสะพานผ่านฟ้า และได้พบกับนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ชมรมต่อสู้ป้องกันตัว อาวุธไทย ได้ขอท่านเรียนมวย แรกๆก็ไปเรียนที่บ้านครู แต่ระยะหลังจึงได้เชิญ ครูทองท่านมาสอนที่มหาวิทยาลัย และครูได้เริ่มสอนแบบโบราณ คาดเชือกด้วยเห็นว่า ท่าย่างสามขุมของดาบ นั้นเป็นแนวเดียวกับการเดินย่างของมวยคาดเชือก จนถึง พ.ศ.๒๕๒๗ นักศึกษาจุฬา ( เคยฝึกอาวุธไทยที่ รามฯ )ได้เชิญครูท่านไปเป็น อาจารย์พิเศษที่จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ครูทอง จึงได้ถ่ายทอด ศิลปะมวยคาดเชือก สายไชยา ในสองสถาบัน จนพ.ศ.๒๕๓๗ จึงหยุดด้วยโรคประจำตัว ครูทองหล่อ ยาและ ป่วยด้วยโรคมะเร็งปอด และถึงแก่กรรมด้วยวัยเพียง ๖๗ ปี ในเวลาเช้า ๘.๔๕ น. ของวันที่ ๑๙ กันยายนพ.ศ.๒๕๓๙
.................................