2/9/57

หมัดคาดเชือก โรยแก้ว,ชุบกาว จริงหรือ ?

...แรก ๆ ที่ได้ยินคำถาม เช่นนี้ ข้าพเจ้า ก็รู้สึกประหลาดใจ ด้วยความที่ได้ยิน ได้ฟังเรื่องราวทำนองนี้มานานเท่าอายุ อีกทั้งคนรุ่นพ่อ รุ่นปู่ เขาก็ได้ยินต่อ ๆ กันมา ...ถึงเรื่อง มวยโบราณจะมีการนำแก้วมาโรยไว้ที่หมัดคาดเชือก ในการชกต่อยกัน เพื่อเพิ่มความเฉียบคมให้กับหมัด แล้วเหตุใดจึงมีความสงสัยในเรื่องนี้ไปได้เล่า?

แต่...ก่อนที่ท่านผู้อ่านจะยอมรับหรือปฏิเสธ เรื่องที่ข้าพเจ้า ได้เกริ่นหัวข้อไว้เป็นปริศนานั้น ใคร่ขอนำท่านมาพิจารณา เนื้อหาโดยแท้ของ การคาดเชือก พันหมัดก่อน “ตีมวย” ขอเหล่า ฌัลละ (นักมวย) ท่านมีเหตุผลกลวิธีสร้างสรรค์ เชือกคาดหมัด มาแต่เดิมอย่างไร ดังข้าพเจ้าจะใคร่ขอเฉลยไว้ ดังนี้

คาดเชือก โดย ครูพงษ์
๑. เชือกที่นำมาใช้ คือ ด้ายดิบ ที่มีความอ่อนนุ่ม จับเป็น ไจ รวบให้ได้ขนาดโตเท่าดินสอดำ (ปรมาจารย์เขตร์ ท่านกล่าวไว้) ปั่นให้ขึ้นรูปเชือก...
...ส่วนวิธีคาดเชือกนั้นแบ่งได้ตามความนิยมของแต่ละถิ่น แต่ละภาค เช่น มวยภาคอีสาน จะพันเชือกสูงเกือบถึงศอก มวยภาคเหนือ ,มวยภาคกลาง มักพันเชือกสูงสักครึ่งแขน และมวยภาคใต้ จะพันเชือกแค่คลุมข้อมือ หรือสูงเลยข้อมือเพียงเล็กน้อย แต่ใครจะพันหมัด ถักหมัด ด้วยวิธีลีลาอย่างไร ไม่มีกฎตายตัว เป็นเรื่องเฉพาะบุคคลเป็นหลัก

๒. เชือกที่เตรียมไว้ ท่านไม่กำหนดความยาวไว้ แล้วแต่ความถนัดของแต่ละคน เริ่มด้วย คาดพันเชือกบริเวณข้อมือก่อน แล้วพันไล่ขึ้นไปคลุมถึง นิ้วก้อย จากนั้นจึงพันเหนี่ยว รั้งเข้าที่ ร่องนิ้ว คาดกลับลงมาที่ข้อมือ เพื่อกระชับกระดูกข้อมือ ใหญ่น้อย กันให้ไม่เคล็ดหรือ ซ้น หัก เอาง่าย ๆ เมื่อชกต่อยกับคู่ปรปักษ์

๓. กติกากำหนดให้ใช้เชือกล้วน ๆ ในการพัน ไม่อนุญาตให้ใช้วัสดุอื่นใด ( ยกเว้นเพียง ขวานฟ้า เครื่องรางชิ้นเล็กที่สอดไว้ใน ซองมือ ระหว่างพันมือเท่านั้น )
...ครูมวยผู้ชาญฉลาด ท่านได้นำเชือกที่เหลือจากการคาดหมัด และถัก แข้งสิงห์ มาบิดเป็นเกลียว เกิดปุ่มปมเชือก แล้ววางไว้บริเวณหลังมือ เรียก ก้นหอย และจะสักตรึงก้นหอยนั้นไว้ด้วย หางเชือก เพื่อใช้เชือกที่ได้ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยความอ่อนนุ่นของเชือกด้ายดิบที่พันรัดไว้พอเหมาะ และความแข็งคมของตัวหอยที่ขดเกลียวจนได้ที่ ประกอบกับการพ่นน้ำใส่ พอชุ่ม เมื่อถักหมัดเสร็จแล้วนี่เอง ที่ทำให้เชือกเส้นหนึ่ง มีคุณสมบัติทั้งคุ้มกันและทำลายในตัวเอง ก็ด้วยภูมิปัญญาของ บรรพชนชาวสยาม โดยแท้

๔. เชือกคาดหมัด ถือเอาเป็น เครื่องราง ของขลังอย่างหนึ่ง ที่ต้องเก็บรักษาเป็นอย่างดี เมื่อ “ตีมวย” เสร็จในคราวหนึ่ง ๆ ท่านก็จะนำ เชือก ออกผึ่งแดดอ่อน ลมเย็นจนแห้งดี จึงเก็บพันเป็นก้อน จัดวางไว้ในที่อันควร โดยไม่มีการซัก,ล้าง เชือกคาดนี้ ด้วยหมายเอา คราบเลือด เศษเนื้อ ของศัตรู คู่ปรปักษ์ ที่ติดมาจากการรณยุทธ์
...เมื่อนำมาตากแห้งแข็งกรังจับตัวดีแล้ว ก็จะทำให้เชือกแข็งคม เป็นอาวุธที่ไม่ผิดกติกาในการคาดเชือก แลนำมาใช้ เมื่อเข้าโรมรันพันตูในศึกครั้งต่อไปได้อีก

"ตีมวย"
๕. ก่อนการ “ตีมวย” ทุกครั้ง กรรมการมวย จะให้นักมวยเอาหมัดคาดเชือกนั้น ถูที่ใบหน้าของตน เพี่อพิสูจน์ว่าไม่ได้มีสิ่งอื่นใดซุกซ่อนอยู่ ในการคาดเชือกคราวนั้น ๆ และยังเป็นการพิสูจน์ความเป็นลูกผู้ชาย ที่มีดี มิใช่คิดจะชิงดี เอาเปรียบผู้อื่น
...อีกทั้งยุคนั้นยังมี คาถาอาคม เครื่องราง เครื่องคาด ของขลัง ว่าน ยันต์ และอาพัด ต่าง ๆ ที่จะนำมาใช้ได้ โดยไม่ผิดกติกาใด ๆ อีกมาก อันเป็นที่นิยม เป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นชายชาตินักรบ อยู่ครบครันแล้ว

๖. นักมวยบางท่าน นั้นก็ไม่นิยมที่จะ คาดเชือกพันหมัด เมื่อขึ้นชก ด้วยเห็นว่าไม่ถนัด หรือหมัดเปล่า ๆ นั้นสามารถเรียก เลือดสด ๆ ได้ดีกว่า หมัดคาดเชือก ข้างฝ่ายกรรมการมวย ก็ไม่ได้ กำหนดเป็นกฎแต่ประการใด เป็นความสมัครยอมพร้อมใจของคู่ชก ตกลงกันเองเสียมากกว่า


...เมื่อท่านผู้อ่านทราบ ถึงระเบียบวิธี คาดเชือก เป็นลำดับขั้นที่ได้กล่าวมาแล้ว รวมถึงหลายคนสงสัยใคร่รู้ กระทู้ความนี้คงตอบคำถาม คาใจ ท่านได้บ้าง แต่ผู้เขียนใคร่ขอ ตอกสลัก ปักลิ่ม ลงดานให้แน่นหนาอีกชั้นหนึ่ง ให้ท่านเชื่อด้วยข้อมูลชิ้นเล็ก ๆ ว่า แม้แต่ ครูผู้เฒ่าเก่าหลัง ท่านก็ยังกล่าวด้วยความเป็นห่วงเป็นไย ในความเชื่อ ความคิดที่บิดเบือนไป เกี่ยวกับเรื่อง คาดเชือกถักหมัด นี้ด้วยเช่นกัน


ปรมาจารย์เขตร์ ศรียาภัย


...ครั้งหนึ่ง ปรมาจารย์เขตร์ ศรียาภัย ท่านได้เขียนเรื่อง ปริทัศน์มวยไทย ลงไว้ในนิตยสาร ฟ้าเมืองไทย เมื่อประมาณ ปี พ.ศ. ๒๕๑ ๔ – ๒๕๑๗ ได้กล่าวถึง หลักฐานบ้างอย่าง ที่พอจะให้อนุชนรุ่นหลังได้สืบค้น ด้นหาเคล้าลาง ในเรื่องนี้อยู่บ้าง ดังนี้.

...เมื่อคราวที่ ปรมาจารย์เขตร์ (๗๒ ปี) ท่านได้มีโอกาสเดินทางไปที่ จังหวัดนครปฐม เพื่อเข้าพบปะพูดคุยกับ ครูตู้ ไทยประเสริฐ (๗๘ ปี) ซึ่งท่านเป็นน้องชาย ของ แดง ไทยประเสริฐ (มวยโคราช) ผู้มียศเป็นถึง ท่านหมื่นชะงัดเชิงชก ( ร.๕ )
...ครูตู้นั้นท่านเป็นนักมวยใน ยุคสนามมวยสวนกุหลาบ (ร.๖ ) ในการชกมวยคู่ประวัติศาสตร์ ที่ นายยัง หาญทะเล ชกกับ จี๊ฉ่าง นั้น ครูตู้ ท่านชกกับ นักมวยจีนนาม ไงใต้ฉิน เป็นคู่ถัดมา ผลท่านชนะด้วยการเตะจนคู่ต่อสู้ท่านถึงกับหมอบ

...ครั้น ท่านปรมาจารย์เขตร์ ถามถึงปัญหาที่มีผู้ลือกันหนาหูว่า เมื่อยุคนั้นได้มีการใช้ แก้วโรยเชือกคาดหมัด เช่นเดียวกับ ป่านคม (เชือกว่าว ที่เอาผงแก้วโรยให้คม) เป็นความจริงหรือไม่ ครูตู้ ไทยประเสริฐ ท่านยืนยันอย่างหนักแน่นว่า

“ ไม่เคยพบเห็นเรื่องอย่างนี้เลย... 
ตลอดเวลาอันยาวนานที่ตนใช้ชีวิตเป็นนักมวย และเป็นครูมวยมา ” 


...ซึ่งความข้อนี้ก็เป็นเรื่องที่ ครูเขตร์ ท่านปรารภไว้เสมอ ๆ ด้วยความเป็นห่วงว่า ความเข้าใจผิดในเรื่องนี้ จะก่อความเสียหาย และส่งผลให้ภาพพจน์ของ มวยโบราณคาดเชือก ถูกมองว่า โหดร้าย ป่าเถื่อน และท่านก็ได้ อบรมสั่งสอนลูกศิษย์ลูกหาของท่านในเรื่องนี้มาตลอด ( ฟ้าเมือไทย ฉบับ ๒๓๘ หน้า ๑๐ )

ครูตู้ ไทยประเสริฐ (คนขวา) สนามมวยสวนกุหลาบ

...นับได้ว่า บันทึกบทนี้ ทำให้ภาพประวัติศาสตร์วงการมวยไทย ถูกมองด้วยสายตาที่เป็นจริงอีกครั้ง ด้วยเหตุสำคัญว่า ครูตู้ ท่านเป็นมวยโคราช (ภาคอีสาน) มีพี่ชายเป็นถึง หมื่นชะงัดเชิงชก และตัวผู้สอบถามคือ ปรมาจารย์เขตร์ ท่านเป็นมวยไชยา (ภาคใต้) และเป็นศิษย์ อาจารย์ กิมเส็ง (สุนทร ทวีสิทธิ์) มวยพระนคร (ภาคกลาง) ครูมวยผู้มีชื่อเสียงโด่งดังแห่งโรงเรียนพละศึกษากลาง ( ร.๖)

...ประเด็นสำคัญคือ ครูตู้ , ครูเขตร์ ท่านทั้งสองเป็นคนในวงการมวย คลุกคลีใกล้ชิดอย่างผู้รู้จริง มีชีวิตอยู่ในยุครุ่งโรจน์ของมวยคาดเชือก จนถึงมวยไทยยุคปัจจุบัน จากรัชกาลที่ ๕ – รัชกาลที่ ๙ (ครูเขตร์ ท่านยังได้รับการยกย่องให้เป็น “ปรมาจารย์มวย” ) เท่ากับว่า ความรู้ในเรื่องมวยของท่านทั้งสองครอบคลุม สามในสี่ภาคของประเทศ และตลอดระยะเวลาร้อยกว่าปี ที่ผ่านมาท่านทั้งสองยืนยันตรงกันว่า ไม่เคยพบเห็นการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดเลย กับการคาดเชือก ตลอดช่วงชีวิตของท่าน 


...ถึงตรงนี้อาจมี ท่านผู้รู้บางท่าน แย้งขึ้นว่า การโรยแก้ว คลุกทราย แม้จะไม่มีใน การชกมวยคาดเชือก หากแต่ในยามศึกสงคราม หรือการชกต่อยของชาวบ้าน แต่...ก็อาจจะมีการทำเช่นนั้นก็เป็นได้ ข้าพเจ้าใคร่ขอให้ท่านผู้มีภูมิปัญญา ทัศนาหาเหตุผลด้วย สิ่งที่มีอยู่เถิด


...ประการแรกสุด ต้องมี เชือกคาดหมัด ซึ่งข้อนี้ ครูทอง ( ศิษย์ปรมาจารย์เขตร์ ศรียาภัย ) ครูของข้าพเจ้า ได้อบรมสั่งสอนศิษย์ เรื่องจัดเตรียมจัดหาเชือกด้ายดิบ รวมถึงสอนวิธีคาดเชือกถักหมัด ให้รู้มาบ้าง และ ครูมวยหรือท่านผู้รู้หลายท่านก็คาดเชือกกันได้ ไม่ใช่เรื่องลึกลับอะไร?


...ประการต่อมา แก้ว ซึ่ง แก้ว นั้นจะมีมาแต่ยุคสมัยใดในสยามไม่ปรากฏ แต่ในสมัยอยุธยา แก้วน่าก็เป็นของมีค่า มีราคา หลายอัฐอยู่ มีใช้มีหาแต่ในรั้วในวังเป็นหลัก ชาวบ้านร้านตลาด คงยากที่จะหา แก้ว มาทุบเล่นเป็นแน่
เอาเป็นว่าถ้าเกิดมี แก้ว หรือ เปลือกหอย, กระเบื้องดินเผา ที่หาง่ายกว่าและมีในประเทศ ( บ้างว่าใช้ ทราย ...การคลุกด้วยทรายนั้นดูจะไม่ดีนัก เพราะแม้กาวจะจับทราย (นึกภาพกระดาษทราย ) แต่หากมีการต่อสู้ ปะทะกัน ทรายคงกระเซ็นเข้าหูเข้าตานักมวยทั้งสองผ่าย ถึงจะมีอาคมดี วิชาเหนียว ผิวกายฟันแทงไม่เข้า แต่ ทวารทั้งแปด โบราณท่านว่าไว้ ยากที่จะป้องกัน เมื่อทรายเข้าตาเสียแล้ว จะชกต่อยกันได้อย่างไร คงต้อง “เปิดมือ” ไปล้างหน้าล้างตา ให้เสียเวลา เสียอรรถรส ท่านผู้ชมเป็นแน่ วิธีนี้ดูจะไม่เหมาะนัก)

...ประการสำคัญ ต้องมี วัสดุที่ใช้ติด และกาวที่ดีที่สุดในยุคนั้นคงเป็น ชัน (ยางไม้สำหรับยาเรือ) ชันสน (ได้จากการกลั่นยางสน ) หรือไม่ก็ รัก (ยางพิษที่ได้จากไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ เรียก น้ำรัก ) คุณลักษณะของ ชัน และ รัก เหล่านี้ ท่านผู้คุ้นเคยกล่าวว่าใช้เวลาเป็นหลายวันหรือเป็นอาทิตย์ จึงจะแห้งสนิทดี เอาละเป็นอันว่าได้กาวแล้ว คือ ชัน และ รัก ครั่ง (ได้จาก เพลี้ยหอย แมลงชนิดหนึ่งที่ดูดกินน้ำเลี้ยงจากพืช และผลิตสารออกมาเรียก ขี้ครั่ง ) ครั่งก็ยังใช้ไม่ได้ ด้วยเหตุที่ เมื่อแห้งจะแข็งเปราะ แตกหักง่าย ยางไม้ นั้นคงเหนียวไม่พอกับการใช้ งานนี้จึงตกไป ( คงต้องตัดประเภทเหนียวแห้งเร็ว อย่าง กาวตราช้าง กาวยูฮู ที่เป็นเทคโนโลยี่ปัจจุบัน)



...ประการสุดท้าย ขั้นตอนประกอบสิ่งที่มีอยู่แล้ว ก่อนอื่นต้อง คาดเชือกพันหมัด แต่ไม่ต้องขดก้นหอย เว้นพื้นที่บนหลังมือไว้ นำชันหรือรัก ทาลงที่หลังมือ นำ แก้ว เปลือกหอย เศษกระเบื้อง ที่ทุบละเอียด หรือจะทุบพอแตก ถ้าทุบละเอียดแล้วเอาหลังมือลงคลุก ก็นั่งรอให้แห้งสักวันครึ่ง ถ้าทุบพอแตก จะจับที่ละอัน เสียบลงกาวบนหลังมือ ยกคมขึ้นแบบหนาม หรือจะวางซ้อน ๆ แบบเกล็ดปลา แล้วก็นั่งรอกาวแห้งสักวันครึ่ง จะยังไงก็คงไม่ดีแน่ ด้วยคมแก้วย่อมมี คม มากกว่า สองมุม คมอีกด้านก็คงไม่พ้นหันมาทิ่มมือตัวเองเป็นแน่
...ยิ่งเคยได้ยินมาว่า เอามือลงชุบยางไม้ หรือน้ำข้าวทั้งสองมือเลย ก็ยิ่งแคลงใจ คาดเชือกแบบไชยายังพอทน แต่คาดแบบโคราช คงจะน่าดู ครูทองท่านกล่าวติดตลกว่า “ กว่าจะรอให้มันแห้ง ใช้เวลานานแค่ไหน แล้วจะกินข้าว ล้างก้นกันอย่างไร มือจะไม่เหมือน ตีนเป็ด หรอกหรือ ”


...กลโกงในการชกต่อยมวยคาดเชือก ที่พอมีบันทึกไว้... ก็เพียงว่า เมื่อคาดเชือกพันหมัดแล้ว ให้เคี้ยวข้าวเหนียว แล้วพ่นลงไปพร้อมกับน้ำ ทำทีเป็นพ่นน้ำตามธรรมดาก่อนการขึ้นชก ระหว่างที่รำมวยไหว้ครู ชั่วพอข้าวแห้ง ข้าวเหนียวก็จะจับกันแข็ง (ผมยังสงสัยอยู่ว่า เพียงแค่ข้าวเหนียวแห้งจะสร้างความเสียหายในการชกต่อยได้มากเพียงใด?)
...และนั่นก็ยังนับว่าเป็นกลโกงอยู่ดี ไม่ใคร่มีผู้ใดจะทำกัน ในหมู่นักมวยให้เสียชาย ให้เสือมเกียรติไปถึงครูบาอาจารย์หรอกครับ

...เป็นอันสรุปว่า หากท่านผู้อ่านที่นับถือท่านใด มีข้อมูลที่เป็นหลักฐานที่เชื่อถือได้ หรือครูอาจารย์ท่านได้สอนสั่งถึงวิธีการ และรวมถึงสามารถทำได้ ถึงวิธีการนำเอา แก้ว, เปลือกหอย , ชัน, กาว, ทราย มาใช้กับเชือกพันหมัดได้ โปรดช่วยชี้แนะ หรือโต้แย้ง เพื่อให้ความกระจ่าง ให้ความรู้แก่ประชาชนในวงกว้าง ต่อไป

แต่....หากว่าไม่มี และจำนนต่อถ่อยคำของ ครูผู้เฒ่าทั้งสองท่าน ดังที่ได้บันทึกเอาไว้ ข้าพเจ้าใคร่ขอเรียกร้องให้ ท่านผู้มีปัญญา มีวิจารณญาณทุกท่าน โปรดได้ช่วยกันบอกสิ่งที่ถูกต้องต่อ ๆ ไป เพื่อให้ ลูกไทยหลานไทย คนรุ่นใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาศึกษาเรียนรู้ศิลปะวิทยาโบราณไทย ได้รับรู้ในสิ่งที่ถูกต้องว่า...  มวยไทยมิใช่จะป่าเถื่อน โหดร้าย อย่างที่คิด มาช่วยกันต่อลมหายใจศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวของไทย ให้ยืนยาวสืบต่อไปอีกสัก ๑๐-๒๐ ปี ของชีวิตท่านเถิด.



กลุ่มไทอชิร กับงานอนุรักษ์ศิลปะมวยโบราณ สาย มวยไชยา







โดย... 

แหลม ศักย์ภูมิ
19 สิงหาคม 2552