หลวงพ่อแช่ม วัดฉลอง |
หลวงพ่อแช่ม วัดฉลอง
ภายหลังที่ใช้ศิลปะการต่อสู้ผู้รุกรานและได้รับความสำเร็จในการกู้ชาติแล้ว คนไทยก็ตื่นตัว กลับนิยมมรดกล้ำค่าประเภทนี้มากและแพร่หลายยิ่งขึ้น การต่อสู้แบบไทยหรืออีกนัยหนึ่งเรียกคลุมๆว่า "มวยไทย" ไม่ได้มีการแข่งขันกันเป็นอาชีพ จนกระทั่งหลัง พ.ศ. ๒๔๖๓ มวยไทยเป็นเพียงการละเล่น (กีฬา) ในยามว่าง และเพื่อความสนุกของลูกผู้ชายซึ่งแฝงไว้ด้วยศิลปะป้องกันตัว ทรัพย์สมบัติ ตลอดจนประเทศชาติ เพราะการปกครองในสมัยโบราณ อยู่กับพ่อเฒ่าหรือนายบ้าน ห่างไกลหัวเมือง ในสมัยซึ่งหัวเมืองขึ้นอยู่ในความปกครองของกระทรวงกลาโหม การรวบรวมชายฉกรรจ์และความสามัคคีเป็นประเพณีและวัฒนธรรมสำคัญเพื่ออนุรักษ์อิสรภาพ
การปกครองหัวเมืองเพิ่งจะขึ้นกับกระทรวงมหาดไทยเมื่อได้จัดแบบมณฑล มีสมุหเทศาภิบาลเป็นผู้สำเร็จราชการ เดิมผู้รักษาเมืองหรือเจ้าเมืองต้องรับผิดชอบเมืองใครเมืองมัน หรืออาจกล่าวว่าต้องรักษาสวัสดิภาพทั้งความสงบภายในและภายนอก หากเกิดความไม่สงบก็ต้องร่วมมือช่วยกันเอง เช่น ครั้งเมืองชุมพร เมืองไชยา เมืองหลังสวน ยกกำลังชายฉกรรจ์ไปช่วยปราบจีนจลาจนเมืองภูเก็ต เพราะมีใบบอกขอกำลังจากเมืองหลวงไม่ได้
ในครั้งนั้น "ประเจียด" (ผ้ายันต์) ของหลวงพ่อแช่ม วัดฉลอง (ซึ่งภายหลังได้เป็นพระครูวิสุทธิวงศาจารย์ ที่สังฆปาโมกข์ เมืองภูเก็ต) ซึ่งแจกจ่ายเป็นเครื่องป้องกันตัวสำหรับลูกศิษย์สู้จีนได้ปรากฏกฤตยาพลในการปราบจลาจนเป็นที่เกรงกลัวของชาวจีนที่ก่อการจลาจน ขึ้นชื่อว่า "พวกหัวขาว" แล้วชาวจีนที่ก่อการจลาจนเกรงกลัวหนัก ทั้งนี้ก็เพราะผู้ปราบจลาจนใช้ผ้าประเจียดสีขาวของหลวงพ่อแช่มโพกศรีษะนั้นเอง พวกจีนจลาจนตั้งสินบนเฉพาะค่าหัวหลวงพ่อแช่มถึง ๑,ooo เหรียน
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสนพระทัย และต่อมาเมื่อสมเด็จตรวจราชการหัวเมือง เมืองภูเก็ต เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๑ หลวงพ่อแช่มทราบและได้เฝ้า เสด็จในกรมฯ พระองค์นั้นทรงเขียนไว้ว่า หลวงพ่อแช่มอายุได้สัก ๖o ปี พูดจาปราศรัยดูเป็นผู้มีกิริยาอัชฌาศัยเรียบร้อยอย่างผู้หลักผู้ใหญ่ (ปรากฏในนิทานโบราณคดี ซึ่งสมเด็จในกรมฯ พระองค์นั้นทรงนิพนธ์ขึ้นไว้) ข้อนี้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า เครื่องรางของขลังไม่ใช่สิ่งเหลวไหล (แต่ตัวอาจารย์ที่เหลวไหลหลอกลวงมีมาก)
* ขอขอบคุณข้อมูลจากหนังสือฟ้าเมืองไทย ปีที่ 4 ฉบับที่ 193 วันพฤหัสบดี ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515
และครูพงษ์ และครูบอย ที่ให้ขอมูลนี้มาครับ