7/9/57

มวยจากสมุดข่อย

 มวยไทยมีมาตั้งแต่เมื่อไหร่?
 คำถามนี้ย่อมมาเพื่อกับคำถามที่ว่า คนไทยมาจากไหน?  
                    
          หากเชื่อเรื่อง “คนไทยอยู่ที่นี่” และไม่ได้อพยพมาจากที่ไหน  เรามาลองมองตามเหตุผลง่าย ๆ ที่ว่าผืนดินแถบสุวรรณภูมิแห่งนี้ เป็นผืนดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ ด้วยพืชพันธ์ธัญญาหาร และแผ่นดินมั่งคงไม่มีภัยพิบัติทางธรรมชาติมากนัก แล้วทำไม...ที่นี่จะไม่มีผู้คนอยู่อาศัยมาแต่เดิมเล่า   และเมื่อมีปัจจัยพร้อมทั้งที่อาหาร และอยู่อาศัยดีเช่นนี้แล้ว ย่อมเป็นธรรมดาที่ผู้คนจากทั่วสาระทิศย่อมจะอพยพเข้ามาลงหลักปักฐานในผืนดินแถบนี้ ที่มีความสมบูรณ์ ไม่เว้นแม้คนจากเทือกเขาอัลไตอันหนาวเหน็บ

         การอยู่รวมกันของหมู่ชนจากหลากหลาย เชื้อชาติ แต่มี วัฒนธรรมคล้ายคลึงกัน อยู่รวมกันผสมผสานกันทางเผ่าพันธุ์  แลกเปลี่ยนสินค้าและติดต่อค้าขาย ถ่ายทอดวัฒนธรรมประเพณีสู่กัน มานับพันปี เกิดวิถีชีวิตในสังคมที่สอดคล้องกัน โดยมีอู่อารยะธรรมหลักที่มีอิทธิพลต่อภูมิภาคแถบนี้คือ อินเดียและจีนเป็นปัจจัย ทำให้เกิดกลุ่มคนที่มี สัญชาติ เดียวกัน เรียกตนเองว่า คนไท

         ด้วยกลไกทางสังคมการสร้างบ้านแปเมือง จากกลุ่มชนสู่หมู่บ้าน จากหมู่บ้านสู่เมือง จนถึงรัฐ นครรัฐ กระทั้งเกิดเป็นอาณาจักร คนไทเหล่านี้จึงเรียกตนเองเป็นหนึ่งเดียวว่า ชาวสยาม (คนไท ชาวสยาม)                                                                                                            
                        หากมีผู้ถามว่า   มวยไทย มีมาตั้งแต่เมื่อไหร่?  คำถามที่หาคำตอบได้ยากที่สุด  แต่...ก็ไม่เกินเลย สติ ปัญญา ของ ครูบาอาจารย์  ครูมวยผู้เฒ่า  ท่านได้เฉลย คำถามที่ยากที่สุด ด้วยคำตอบที่ง่ายที่สุด   ว่า....

มวยไทย ก็มีมาตั้งแต่ครั้งมี คนไท นั่นแหละ
 เป็นคำตอบแบบ กำปั้นทุบดิน ที่ตรงและคม สมเป็นครูมวยโดยแท้   

           มวยไทยในอดีตมีรูปแบบการต่อสู้ที่หลากหลายเกินกว่าที่ตาเห็นในปัจจุบัน  รูปแบบลีลาท่ามวยจากทั่วทุกภาคในสยาม มีความงดงามและเปี่ยมไปด้วยภูมิปัญญา บันนี้สูญหายไปเกือบหมดแล้ว  มวยที่คนไทยและชาวโลกรู้จักยอมรับถึงความหนักหน่วงรุนแรงของหมัด เท้า เข่า ศอก นั้นสืบทอดมาจากมวยไทยไม่กี่สายมวย

           มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับ มวย อยู่ชิ้นหนึ่งซึ่งให้ความกระจ่างชัดถึงความเป็น มวยในสยามประเทศ บ่งบอกถึงรูปแบบการชกต่อยมวยของผู้คนในสยามว่า นอกจากจะนิยมใช้ หมัด เท้า เข่า ศอก ในการเข้าต่อสู้กันแล้ว มวยสยาม ยังนิยมการทุ่ม ทับ จับ หัก อีกด้วย  ซึ่งมีการบันทึกในสมุดข่อยหรือสมุดไทยในสมัยรัชกาลที่ ๓
           แต่กว่าที่จะมีการยอมรับในวงกว้างว่ามวยไทยมีการทุ่มทับจับหักเสริมเติมขึ้นมาจากการชกต่อยแตะอย่างที่เข้าใจ  ในแวดลงผู้ศึกษาและอนุรักษ์เผยแพร่ศิลปะมวยไทยก็ทั้งผู้เกี่ยวข้องต่างก็วิพากษ์วิจารณ์กันไปในแง่มุมต่าง ๆ มากมาย บ้างยกให้การจับการทุ่มนั้นเป็นอิทธิพลจากจีนและญี่ปุ่น บางก็อ้างถึงชาวฝรั่งมังค่าที่มาค้าขายในสยามเป็นผู้นำการปล้ำเข้ามาเผยแพร่ แต่หากจะมองในแง่กายวิภาคและสรีระ  ร่างกายของคนย่อมคล้ายคลึงกัน ปัญญาที่ใช้ในการเอาตัวรอดไม่แตกต่างกัน  การชกต่อยเมื่อประชิดติดตัวย่อมต้องมีการกอดรัดขัดขา การทุ่มการเหวี่ยง  ธรรมชาติของการเอาตัวรอดย่อมเกิดขึ้นได้อย่างเสรีในรูปแบบการต่อสู้ที่ไร้กติกา  และภูมิปัญญาคนไทยย่อมคิดได้... 

             หากสังเกตในภาพที่ ลูกไมย ๕, ๙ และ๑๒ ขั้นตอนการเข้าจับหัก หรือการแก้กลเตะถีบ ด้วยจับทุ่ม ที่นำมาเสนอหากผู้รู้มวยได้เห็นภาพคงจิตนาการต่อไปได้ว่าลูกไม้นี้จะไปจบลงอย่างไร หรือหากจะแก้ทางมวยนี้จะต้องปฏิบัติหรือตอบโต้อย่างไร กลย่อมซ้อนด้วยกล แก้ย่อมซ้อนด้วยแก้ ก่อเกิดท่ามวยไหลเวียนต่อไปไม่จบ นั่นแหละคือความหมายของ มวย

                 หากมองภาพกลมวยใบลานจากอดีต  แล้วสามารถสร้างรูปแบบกลมวยที่แก้มวยต่อไปได้ไม่รู้จบ  มวยไทยที่ใช้  หมัด เท้า เข่า ศอก สร้างความลือลั่นไปทั่วนั้น  ถ้าถูกเติมเคี้ยวเล็บเคล็ดมวย ทุ่ม ทับ จับ หัก เข้าด้วยแล้วละก็มวยจากเมืองสยามคงเป็นที่ลือเลื่องสมกับที่ครั้งหนึ่ง  มวยไทยเคยเป็นที่เกรงขามไปทั่วโลก
                       
...หากเชื่อว่าคนไทยอยู่ที่นี่  ผมก็เชื่อว่า...“มวยไทยอยู่ที่นี่”  ครับ.



                                                                ศักย์ภูมิ  จูฑะพงศ์ธรรม (ครูแหลม)
26 พ.ย. 2553