ใบประกาศคู่มวย ณ สวนกุหลาบ - ร.๖ |
หากกล่าวถึง วงการมวยในครั้งอดีต การชุมนุมนักมวยครั้งสำคัญ ครั้งหนึ่งของแผ่นดินสยามนี้ คือ การแข่งขัน ตีมวย ณ สนามมวยสวนกุหลาบ (พ.ศ. ๒๔๖๓-๒๔๖๕) จัดขึ้นเพื่อหาเงินซื้อปืนให้กับกองเสือป่า ใน สมัยรัชกาลที่ ๖
เหตุการณ์นี้นับเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทาง การชกมวยไทยแบบอาชีพขึ้น จากกองมวยตามหัวเมือง หมู่บ้าน สู่นักมวยในจวนท่านเจ้าเมือง โดยมี สมุหเทศาภิบาล และข้าหลวงตามหัวเมืองต่างๆ เป็นผู้จัดหานักมวยที่มีฝีมือดี คัดเลือกตัวส่งเข้าสู่ การเข้าแข่งขันชกมวยในพระมหานคร
นักมวยมากหน้าหลายตา ต่างชั้นต่างระดับฝีมือ เดินทางรอนแรม
ฝ่าฟันมาจนสุดเส้นทางสายการต่อสู้ มีทั้งผู้ชนะและผู้พ่ายแพ้ เลือดและเหงื่อประพรมผืนหญ้าลานดิน ณ สนามมวยสวนกุหลาบแห่งนั้น
หลักการชิงชัยสิ้นสุด นักมวยหลายคนบ้างก็ปักหลักอยู่ในเมืองรับใช้ในจวนเจ้านาย หากโชคเข้าข้างบ้างก็ได้เข้ารับราชการ บ้างก็กลับภูมิลำเนาเดิมทำไร่ไถ่นาดั้งเดิมมา
ในบรรดานักมวยที่เข้ามาแสวงโชคและชื่อเสียง ในครั้งครานั้นต่างได้แสดงรูปลักษณ์ลีลา ความสามารถในเชิงหมัดมวย ซึ่งเป็นแบบฉบับเฉพาะหมู่ เฉพาะภาค ของตนออกมาให้เป็นที่ประจักษ์แก่หมู่ชน ในศาสตร์ พาหุยุทธ์วิทยา อันบ่งบอกความเป็นเอกลักษณ์ของชนชาติไท เลือดนักสู้ ผู้มีศิลปะการต่อสู้ประจำชาติตน ที่เรียกขานไปทั่วโลกว่า... “มวยไทย”
การชกมวยหน้าพระที่นั่ง สมัย ร.๕ |
คู่มวยที่สร้างชัยชนะให้กลายเป็นตำนาน และยังเป็นผู้เปลี่ยนเส้นทางวงการมวยคาดเชือก ให้พลิกผันไปตลอดกาล คือ นายแพ เลี้ยงประเสริฐ หนึ่งในนักมวย ๕ ใบเถา จากบ้านท่าเสา เมืองอุตรดิตถ์ กับอีกหนึ่งนักชกจาก พระตะบอง นาม นายเจีย แขกเขมร (เจีย พระตะบอง) มวยฝีมือดีจากแถบชายแดนตะวันออก
เล่ากันมาว่า... ผลงานการชกของ นายแพ กับ นายเจีย นั้นเป็นที่รำลือ เพราะนายแพได้ใช้เชิงหมัดกลมวยด้วยการสืบทิ่มหมัดหงาย เข้าที่ลูกกระเดือกนายเจียในท่า หนุมานถวายแหวน อันลือลั่น เป็นเหตุให้นายเจียถึงกับหมดสติคาเชือกกั้นเวที นายแพเห็นเช่นนั้นก็คะเนว่าคู่ปรปักษ์ยังไม่ล้ม จึงได้เข้ากระหน่ำตีไม่นับ จนกรรมการเข้าห้ามหย่าศึก และเข้าปฐมพยาบาล แต่ก็ไม่อาจจะแก้ไขให้นายเจียฟื้นคืนสติได้ จึงต้องนำส่งโรงพยาบาลเป็นการด่วน สุดท้ายนายเจียได้สิ้นใจในเวลาต่อมา
เป็นอุบัติเหตุแห่งเหตุการณ์สำคัญใน ยุคสนามมวยหลักเมือง (ร.๗ พ.ศ. ๒๔๖๖-๒๔๗๒) ภายใต้กฎกติกาการชกมวยคาดเชือก อันว่าด้วยมาตราหนึ่งใน พระธรรมนูญลักษณะเบ็ดเสร็จ บทที่ ๑๑๙ บัญญัติ ไว้ว่า...
" ...ชนทั้งสองเป็นเอกจิตรเอกฉันท์
ตีมวยด้วยกันก็ดี แลปล้ำกันก็ดี
และผู้หนึ่งต้องเจ็บปวดก็ดี โค่นหักถึงแก่มรณภาพก็ดี
ท่านว่าหาโทษมิได้
อนึ่ง ผู้ยุยงก็ดี ผู้ตกรางวัลก็ดี
ให้ปล้ำตีนั้น ผู้ยุหาโทษมิได้
เพราะผู้ยุนั้น จะได้มีจิตเจตนาที่จะใคร่ให้สิ้นชีวิตหามิได้
แต่จะใคร่ดูเล่นเป็นสุขภาพ
เป็นกรรมของผู้ถึงมรณภาพเองแล...ฯ "
เหตุการณ์ครั้งนั้นนับเป็น มูลเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบมวยเวที โดยกระทรวงมหาดไทยในยุคนั้น (พ.ศ. ๒๔๗๑-๒๔๗๒) ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้น มีนายพลตรีพระยาฤทธิ์ไกรเกรียงหาญ เป็นแม่งานในการกำกับดูแล ปรับเปลี่ยนกฎกติกา การตีมวยคาดเชือก ตลอดจนมีการบังคับให้นักมวยต้องสวมนวมแบบสากล และสวมถุงเท้า ในการชกต่อยมวย
อันส่งผลให้ศิลปะวิทยา การต่อสู้แบบมวยคาดเชือก
ต้องย่อหย่อนขาดหายความเป็นศิลปะและศาสตร์ลงไปอย่างน่าเสียดาย... ลูกไม้ กลมวยการจับกุม ทุ่มทับ ก็พลอยขาดการสืบเล่น เฟ้นต่อกันมาอีกด้วย
หนทางแห่งชัยชนะของนักมวยคาดเชือก ในความพยายามที่จะกอบกู้ รักษาศาสตร์แห่งวิชามวยโบราณเอาไว้นั้น... ลางเลือนลงทุกที นับแต่มีการประกาศเลิกคาดเชือกในครั้งนั้น
จวบจนปัจจุบันสมัย (พ.ศ. ๒๕๕๐) ด้วยระยะเวลาไม่ถึง ๘๐ปี หากจะนับก็แค่เพียงชั่วอายุคนคนหนึ่งเท่านั้น
แต่...ศาสตร์ศิลป์แห่งวิชา ความรู้ที่เกี่ยวกับ มวยคาดเชือก ก็แทบจะเลือนหายไปพร้อมกับ
ครูผู้เฒ่า คนแล้วคนเล่า นับเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย จนต้องทอดถอนลมหายใจสักเฮือก.
โดย.... แหลม - ศักย์ภูมิ
26 กันยายน 2557
26 กันยายน 2557