31/5/55

ตีน้ำ,สับน้ำ

บทความจากนิตยสาร add Free Magazine
ป้องกันและตอบโต้ (ด้วยเคล็ดวิชา มวยไชยา)   
...โดย แหลมทอง ศิษย์ครูทอง



ตีน้ำ,สับน้ำ (มกราคม 2555)

ตีน้ำ
            
              ต้นปี 2555 นี้ผมมีเคล็ดการฝึกมวยโบราณโดยใช้ น้ำ เป็นอุปกรณ์การฝึกมาเล่าสู่กันฟังครับ  ...ยังไงก็อย่าเพิ่งเบื่อน้องน้ำเลยนะครับ  ฝนหน้าอาจจะมาถึงเร็วกว่าที่คิดก็เป็นได้  ไหนๆ พวกเราก็มีบทเรียนกันแล้ว  เตรียมการป้องกันไว้แต่เนินๆ กันนะครับ

            แม่น้ำ ลำคลอง อยู่ใกล้ชิดกับวิถีชีวิตคนไทยมานานนม  ครูมวยโบราณท่านรู้จักใช้ประโยชน์จากน้ำในการฝึกมวย  เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของร่างกายด้วยการวิ่งย่ำเหยาะในน้ำระดับแข้ง  วิ่งทวนน้ำ,ว่ายน้ำ,ดำน้ำ  เป็นการบริหารร่างกายหัวใจ,ปอด,กล้ามเนื้อทั้งแขน,ขา,อก,เอว,สะโพก  ดีนักแล 

สับน้ำ


                   กลวิธีสับน้ำ  ใช้สันมือทั้งสอง  สับน้ำด้วยความแรงและเร็ว  ช่วยเสริมความแกร่งของมัดกล้ามเนื้อหัวไหล่,ต้นแขน,ข้อมือ


                กลวิธีตีน้ำ  โดยแบบมือข้างหนึ่งตบลงน้ำแล้วพลิกหงายฝ่ามือหงายให้เกิดฟองอากาศลอยขึ้นบนผิวน้ำ  ผู้ฝึกจะต้องรีบพลิกเหลี่ยมเอาศอกถองลงตรงฟองอากาศนั้นให้ทัน  ทำสลับเหลี่ยมไปทั้งซ้ายและขาว ชุดฝึกนี้ได้ทั้งการฝึกสามขุม  การทรงตัว  พลังเอวจากการพลิกเหลี่ยม และสายตาการกะจังหวะระยะครบเครื่องครับ  
  

                  กลวิธีวักน้ำ โดยเอามือวักน้ำให้กระเซ็นกระสายขึ้น  แล้วเงยหน้าจ้องให้เห็นน้ำที่จะหล่นเข้าตา  การฝึกนี้ต้องไม่หลบไม่กระพริบตาครับ  เพื่อฝึกให้สายตาคมกล้า  เมื่อเห็นอาวุธหมัด,เท้า,เข่า,ศอกของฝ่ายตรงข้ามพุ่งเข้ามาจะได้รู้รับรู้หลีกหรือจัดการด้วยลูกไม้ กลมวยอย่างใดอย่างหนึ่งได้ทันท่วงที  เหล่านี่เป็นอีกหนึ่งภูมิปัญญาครูบาอาจารย์มวยไทยเชียวนะครับ

                  
วักน้ำ
        
    วิธีฝึกเหล่านี้ผู้เขียนขอแนะนำให้ตรวจสอบความสะอาดของอุปกรณ์(น้ำ)ก่อนการฝึกนะครับ  เพราะน้ำท่าบ้านเราทุกวันนี้ไม่ได้ใสไหลเย็นเห็นตัวปลาเหมือนอย่างเมื่อ 70-80 ปีก่อนแล้วครับ  ทั้งขยะเอยสารพิษเอยก็มาจากฝีมือมนุษย์ทั้งนั้น  
           
             สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นตัวสร้างมลภาวะให้กับธรรมชาติ  แม่น้ำ  ลำคลอง ป่าเขา  แล้วก็วกมากระทบถึงพวกเราทุกๆ คน  ทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างที่เห็น  ที่ผ่านมาก็คงจะอ่วมอรทัยกันทั่วหน้านะครับ  คิดหาทางป้องกันก่อนที่จะมาแก้ไข,ฟื้นฟูจะดีกว่ามั๊ยครับ.     




*ครูพงษ์ ไทอชิร ภูเก็ต

สุโขสปา (sukkospa.com)
เอื้อเฟื้อภาพและสถานที่ถ่ายทำ ข
อบคุณครับ.