8/9/54

สยามเมืองมวย


ท่าจดมวยโบราณสายต่างๆ
สยามเมืองมวย

      กว่าจะมี สยามประเทศ ขึ้นมาได้การรวบรวมแผ่นดิน ขยายอาณาเขต ต้องมีการรบราฝ่าศึก ทั้งในและนอกประเทศ มานับไม่ถ้วน หัวเมืองหน้าด่านที่สำคัญๆ ตั้งแต่เหนือจรดใต้ ต่างสั่งสมผู้มีความรู้ในเชิงดาบเชิงมวย ปรับปรุงพัฒาศาสตร์วิชาของหมู่ตนขึ้น หลอมรวมกับลักษณะคนพื้นถิ่นดินด้าวเดียวกันและคล้ายคลึงกัน จะเกิดเป็นเอกลักษณ์เฉพาะในสายวิชามวยและดาบนั้น

       มวยสยาม เกิดแต่ชนชาติผู้รักอิสะ มวยจึงมีความเป็นเอกลักษณ์อยู่ทุกชุมชน หมู่บ้าน และเมือง ด้วยลีลาหมัด เท้า เข่า ศอก อาจทั้งแตกต่าง ทั้งกลมกลืนคล้ายคลึงกันทั้งประเทศ แต่ก็ไม่เหมือนกันอยู่ในทีท่า ในเชิงหมัดจัดมวย อีกทั้ง แม่ใม้ ลูกไม้ กลไม้มวย หรือการคาดเชือกพันหมัดถักมือ ต่างก็มีความแตกต่างกันพอให้สังเกตเห็น ในบางลีลา

      หากจะแยกสายมวย ควรแยกด้วยท่ารำร่ายไหว้ครูที่ต่างครูแต่โบราณกาลท่านต่างคิดประดิษฐ์ถวายนั้น ก็จะเห็นความแตกต่างอย่างเด่นชัดในสายมวยที่สืบมาแต่ครูเก่าเล่าวิชา

     ปัจจุบัน ณ กาล ผ่านยุคสมัยเฟื่องฟูของมวยคาดเชือกมานาน ท่าไหว้ครูแต่ก่อนเก่าและครูผู้เฒ่าก็ต่างเลือนหาย ล้มหาย สายมวยในอดีตจะเหลือก็เพียงตำนาน ท่าไหว้ท่ารำสูญหายไปบ้าง บ้างก็ปรับประยุกต์ตามหลักสูตรกรมพละศึกษา จึงทำให้ท่าไหว้ครูมวยไทยคล้ายกันไปหมดสิ้น หากนับแยกสายมวยเอาเฉพาะที่มีความโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ คงพอจะแบ่งแยกได้กว้างๆ ตาม ภูมิภาค เขตการปกครองหรือหัวเมืองใหญ่ ดังนี้.

ตีมวย
ภาคเหนือ

มวยท่าเสา มวยเม็งราย มวยเจิง มวยท่าเสา - คาดเชือกประมาณครึ่งแขน

เป็นมวยเชิงตบ ปัด เตะ คล่องแคล่ว ว่องไว ทั้งซ้ายขวา ลักษณะเด่น เตะไว จนได้รับฉายา มวยตีนลิง

ภาคอีสาน

มวยโคราช มวยหลุม ฯลฯ มวยสกล - คาดเชือก ขมวดรอบแขนจนจรดข้อศอก

ลักษณะการ เตะ ต่อย เป็นวงกว้าง เพื่อใช้รับการเตะ ที่หนักหน่วงรุนแรง ท่าลูกไม้ที่โดดเด่นคือ หมัดเหวี่ยงควาย

ภาคกลาง

มวยลพบุรี มวยพระนคร ฯลฯ มวยลพบุรี - การคาดเชือก จึงคาดเพียงประมาณครึ่งแขน

ลักษณะ ชก ต่อย เตะ วงใน เข้าออกรุกรับรวดเร็ว เน้น หมัดตรง และ หมัดหงาย

ภาคใต้

มวยไชยา - คาดเชือกจึงนิยมคาดเพียง คลุมรอบข้อมือ เพื่อกันการซ้น หรือเคล็ด เท่านั้น

     ลักษณะการรุก-รับ ย่อตัวต่ำ รัดกุม ถนัดการใช้ศอก มักเข้าวงในระยะประชิดตัวเพื่อ ทุ่ม ทับ จับ หัก เป็นหลัก

ภาพลูกไม้มวยจากใบลาน สมัย ร.3

    เมืองมวย จะมีมาแต่ใดไม่ปรากฏ จะมีเรียกให้เห็นหลักฐานในประวัติศาสตร์มวยก็เมื่อครั้ง มีใบบอกให้เจ้าเมืองน้อยใหญ่เร่งจัดคัดสรร นักมวยฝีมือดีเพื่อร่วมในงานพระเมรุ กรมขุนมรุพงษ์ศิริพัฒน์ ณ ท้องทุ่งพระเมรุ ป้อมเผด็จดัสกร กรุงเทพฯ โดยจัดให้มีการตีมวยหน้าพระที่นั่งครั้งสำคัญ สมัยรัชกาลที่ ๕

   ในครั้งนั้นได้มี นักมวยฝีมือดี ๓ ท่าน ที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์ “หมื่น” (ข้าราชการประทวน) อันได้แก่

๑. หมื่นมวยมีชื่อ (ปล่อง จำนงทอง) มวยไชยา

๒. หมื่นมือแม่นหมัด (กลิ้ง แห่งบ้านทะเลชุบศร) มวยลพบุรี

๓. หมื่นชะงัดเชิงชก (แดง ไทยประเสริฐ) มวยโคราช

       ข่าวสำคัญนี้ร่ำลือระบือไกลไปทั่วประเทศ จนมีคำชอบผูกเป็นกลอนในยุคนั้นว่า

                         “ หมัดหนักโคราช ฉลาดลพบุรี ท่าดีไชยา ”

       มวยเป็นกีฬาของสุภาพบุรุษ เป็นทั้งศาสตร์วิชาผดุงรักษาชาติ และเป็นกีฬาที่นิยมกันทั่วประเทศ ผู้ฝึกหัดมวยเป็นผู้มีเกียรติ และยังได้รับการยกเว้นภาษีอีกด้วย หากเป็นมวยมีฝีมือก็ถึงขั้นได้รับการอวยยศ และไม่ถูกเกณฑ์แรงงาน ด้วยเหตุที่ทางราชการให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี และเมืองที่มีนักมวยฝีมือดี ที่สามรถสร้างชื่อก็ได้รับการยกย่องให้เป็น “เมืองมวย”


ใบปิดคู่ชกมวยสวนกุหลาบ ร.6 (เพื่อหาเงินซื้อปืนให้กองเสือป่า)