23/8/54

ครูมวยไชยา

สถูปพ่อท่านมา วัดทุ่งจับช้าง
พ่อท่านมา
ปฐมบทแห่งมวยไชยา

...ท่านมา ประวัติความเป็นมาและชื่อจริงไม่ปรากฏ ทราบเพียงท่านมาจาก กรุงเทพฯ ในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ตำนานกล่าวว่าท่านเป็น ครูมวยใหญ่ หรือแม่ทัพ ผู้เชี่ยวชาญทั้งการศึกและไสยเวทย์จากวังหลวง

...ท่านมา เดินทางมาที่ เมืองไชยา (เมืองหน้าด่านทางตอนใต้ของสยาม) ในช่วงปลายรัชกาลที่ 3 ท่านมาได้อบรมสั่งสอนชาวเมืองให้เรียนรู้วิชามวยหลวง ชาวเมืองนับถือท่านมาก เรียกท่านว่า ท่านมา ครูมวยจากวังหลวง

...มีประวัติเล่าถึง โขลงช้างป่าอาละวาดกัดกินพืชไร่ของชาวบ้าน ท่านมา ได้ร่ายพระเวทพร้อมใช้กะลามะพร้าวครอบจับช้างเอาไว้ด้วยอาคม ณ ที่แห่งนั้นชาวเมืองจึงได้สร้างวัดขึ้นชื่อว่า วัดทุ่งจับช้าง และในปั่นปลายชีวิตท่านได้บวชศึกษาพระธรรมและได้เป็นถึง พ่อท่านมา เจ้าอาวาสวัดทุ่งจับช้าง สถูปของท่านทุกวันนี้ยังมีผู้ศึกษาศิลปะการต่อสู้และนักมวยแวะเวียนมารำมวยถวายอยู่เสมอ

...ต้นแบบมวยจาก พ่อท่านมา ผู้เป็นปฐมครูแห่งมวยไชยา หยั่งรากลงลึกในแดนดินถิ่นปักษ์ใต้ สืบสายกลายลีลาคละเคล้าศิลปวัฒนธรรมพื้นเมือง ผสมผสานการต่อสู้พื้นถิ่น ผ่านการเคี่ยวกรำฝึกฝนจากรุ่นสู่รุ่น ปรับเปลี่ยนบุคลิกเป็นมวยใต้ จึงส่งผลให้ มวยท่านมา เป็นที่นิยมฝึกเล่นกันทั่วภูมิภาคด้ามขวานทองของไทย โดยมี เมืองไชยา เป็นเมืองแม่ถิ่นกำเนิด มวยไชยา มรดกอันล่ำค่าจากบรรพชน

* วัดทุ่งจับช้าง ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปัจจุบันมีการบูรณะสถูปขึ้นใหม่และปั่นองค์พ่อท่านมาจำลองไว้ให้ผู้คนกราบไหว้อีกด้วย

พระยาวจีสัตยารักษ์
พระยาวจีสัตยารักษ์
ผู้เปิดประตูมวยไชยา

...พระยาวจีสัตยารักษ์ เจ้าเมืองไชยา (ขำ ศรียาภัย) หรือพระยาไวยวุฒิวิเศษฤทธิ์ กินตำแหน่งจางวางเมืองไชยา ท่านมีส่วนผลักดันให้ มวยไชยาเป็นกีฬาสำคัญของท้องถิ่นโดยตรง เมื่อท่านได้สร้าง ศาลาเก้าห้อง ขึ้นเพื่อใช้เป็นที่พักแก่คนเดินทางและใช้จัดการตีมวยขึ้นในเทศกาลแห่พระบกประจำทุกปี มีนักมวยจาก กองมวย ต่างๆ ในแถบนั้นเข้ารวมการแข่งขันอยู่เสมอ จึงทำให้ มวยไชยา มีผู้นิยมฝึกเล่นกันอย่างแพร่หลาย ตั้งแต่ อำเภอหลังสวน ชุมพร ไล่เรียงลงมาโดยมี เมืองไชยา เป็นศูนย์กลาง

...พระยาวจีฯ ท่านมีศิษย์นักมวยในจวนที่มีฝีมือเป็นที่กล่าวขวัญอยู่หลายคน แต่ที่มีความสามารถได้เข้าชิงชัยในการชกมวยหน้าพระที่นั่ง ในสมัยรัชการที่ 5 ในคราวงานพระเมรุ กรมขุนมรุพงษ์ศิริพัฒน์ ณ ท้องทุ่งพระเมรุป้อมเผด็จดัสกร ก็คือ นายปล่อง จำนงทอง ที่ใช้ท่าทุ่ม ทับ จับ หัก เอาชนะคู่ต่อสู้นักมวยฝีมือดี ศิษย์พระเหมสมาหาร เจ้าเมืองโคราช จนได้รับชัยชนะ รับการแต่งตั้งบรรดาศักดิ์ เป็น “หมื่นมวยมีชื่อ”

...ด้วยปรีชาสามารถและมองการณ์ไกลของท่านพระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำศรียาภัย) พ่อเมืองไชยา ผู้เปิดประตูแห่งศิลปะการต่อสู้ในสายมวยไชยา จนเป็นมีชื่อเสียงไปทั่วประเทศ เป็นเหตุให้ เมืองไชยา ได้รับการยกย่องเป็น “เมืองมวย” นับแต่นั้นเป็นต้นมา

...พระยาวจีสัตยารักษ์ เป็นผู้มีสุขภาพแข็งแรงมาโดยตลอด ท่านถึงแก่กรรมด้วยโรคลมปัจจุบัน เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๗ รวมอายุได้ ๗๐ปี

* ปัจจุบันสถูปบรรจุอัฐิของท่านและบุตรหลาน ตระกูลศรียาภัย ตั้งอยู่ ณ เมืองไชยา(เก่า) ต.พุมเรียง อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี

ปรมาจารย์เขตร์ ศรียาภัย
ปรมาจารย์เขตร ศรียาภัย
ประภาคารแห่งงานอนุรักษ์

...อาจารย์เขตร ศรียาภัย ท่านเป็นบุตร พระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ ศรียาภัย) เจ้าเมืองไชยา ร่ำเรียนวิชามวยไชยาจากบิดาและครูท่านอื่นๆ อีกรวม 12 ท่าน ผูกพันอยู่กับวงการมวยไทยมาแต่ครั้ง สนามมวยสวนกุหลาบ (ร.6) สนามมวยสวนสนุก (ร.7) จนกระทั่งผ่านยุคเลิกคาดเชือก อาจารย์เขตร ได้มีส่วนรวมในการก่อตั้ง สนามมวยธรรมศาสตร์ (ต้น ร.9) แทน สนามมวยราชดำเนินที่ยุคนั้นยังไม่มีหลังคา ในปี พ.ศ. 2446 ท่านยังได้รับเป็น ผู้จัดการสนามมวยลุมพีนี อีกด้วย

...อาจารย์เขตร ท่านได้เริ่มงานอนุรักษ์ศิลปะมวย ในช่วงหลังยุคเลิกคาดเชือก ด้วยเล็งเห็นว่า ศาสตร์และศิลป์ในวิชามวยโบราณจะเสื่อมสูญหายไป เมื่อนักมวยไทยต้องสวมนวม สวมถุงเท้า และใช้กติกาการตัดสินอย่างฝรั่งเข้ามาแทน ช่วงหลังยุคปฏิวัติวัฒนธรรม ท่านได้เริ่มเผยแพร่ มวยไชยา ให้กับนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฯลฯ และยังใช้ที่บ้านของท่านเป็นที่สอนอีกแห่งในนาม คณะเชื้อไชยา (พ.ศ.๒๔๘๒ - ๒๕๒๑) มีลูกศิษย์มากมายหลายรุ่น

...ในวัย 69 ปี อาจารย์เขตร ท่านได้เขียนบทความ “ปริทัศน์มวยไทย” ลงในนิตยสาร ฟ้าเมืองไทย (มีการพิมพ์ซ้ำโดยสำนักพิมพ์ มติชน 2552) ด้วยความรู้ด้านประวัติศาสตร์วงการมวยไทยและความรู้อย่างลึกซึ้งในมวยโบราณ ด้วยเกียรติคุณความดีและการเสียสละเพื่อส่วนรวมจากการทำงาน อาจารย์เขตร ได้รับ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และ เหรียญตรา มากมาย สำหรับวงการมวยท่านได้รับการยอมรับจากคนในวงการมวย ยกย่องให้ท่านเป็น “ปรมาจารย์มวยไทย” ผู้มีคุณูปการต่อวงการมวย

...สำหรับงานอนุรักษ์ศิลปะมวยโบราณ สายมวยไชยา โดยท่านปรมาจารย์เขตร ผู้เป็นดั่งแสงไฟฉายส่องนำภูมิปัญญาจากอดีตสู่ปัจจุบันและเพื่ออนาคต สิ่งที่ท่านกระทำไว้นั้นได้จุดประกายให้อนุชนคนรุ่นต่อมาได้เอาเป็นแบบอย่าง มวยไทย ได้รับความนิยมทั้งในไทยและต่างประเทศ หากแต่...งานอนุรักษ์และเผยแพร่ มวยไชยา นับว่าเพิ่งจะเริ่มก้าวย่าง ...เป็นก้าวเดินสั้นๆ ที่เดิมตามแสงประภาคารของท่าน ปรมาจารย์เขตร ศรียาภัย ครูผู้ซื่อสัตย์ตลอดกาล.

* ปรมาจารย์เขตร ศรียาภัย ถึงแก่กรรม ด้วยโรคหัวใจ ล้มเหลว เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ.2521 สิริอายุรวม 75 ปี

ครูทองหล่อ ยาและ


ครูทอง
ผู้เชื่อมตำนานพาหุยุทธ์

...ครูทอง (ครูทองหล่อ ยาและ) เป็นหนึ่งในศิษย์ คณะเชื้อไชยา ท่านได้สืบสานงานอนุรักษ์เผยแพร่ต่อจากปรมาจารย์เขตรและเป็นผู้สร้างชื่อให้กับ มวยไชยา ให้เป็นที่รู้จักทั่วประเทศในยุคของท่านและต่อๆ มา

...ในวัยหนุ่ม ครูทอง ได้พากเพียรฝึกฝนมวยและขึ้นชกมวยเวทีตามต่างจังหวัด และได้ก่อตั้งค่ายมวย เพื่อฝึกนักมวยขึ้นชกมามากมาย จวบจนเข้าวัยกลางคน ครูทอง จึงได้เริ่มเผยแพร่ศิลปะมวยคาดเชือก รวมทั้งมีบทความเกี่ยวกับมวยไทยเขียนลงในนิตยสารมวยในยุคนั้นหลายเล่ม ในนาม ทอง เชื่อไชยา, ทอง มวยไทย

...ในปี พ.ศ. 2525 ครูทอง ได้ร่วมกับนักศึกษาจาก แผนก อาวุธไทย จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และได้ ก่อตั้ง ชมรมอนุรักษ์ พาหุยุทธ์ ไชยารัตน์ และอาวุธไทย พิชัยยุทธ์ (ค่ายมวยไชยารัตน์) เพื่อทำกิจกรรมตามแบบอย่างที่ครูบาอาจารย์รุ่นก่อนได้เคยกระทำไว้ มีศิษย์จากโรงเรียนต่างๆ และทั้งทหาร,ตำรวจ,ประชาชนทั่วไป สร้างผลงานและสร้างศิษย์ที่โดดเด่นขึ้นมากมายในช่วงชีวิตของท่าน

...หากนับการถ่ายโอนส่งต่อศาสตร์วิชามวยไชยาจากรุ่นสู่รุ่นแล้วล่ะก็ ปรมาจารย์เขตร ผู้อยู่ในยุคก่อนเลิกคาดเชือก ได้เรียนได้รู้ได้เห็นรูปแบบกลวิธีพาหุยุทธ์โบราณในครั้งนั้น ท่านได้ถ่ายทอดมาสู่ คณะเชื้อไชยา และครูทอง ก็คือผู้เชื่อมตำนานนั้นมาสู่ยุคปัจจุบัน ด้วยความเพียรพยายามของครูที่ได้อบรมสั่งสอนศิษย์รุ่นแล้วรุ่นเล่า พร่ำบอกเล่าขานเรื่องราวตำนาน วิชาการต่างๆ ทั้งงานสอนและงานเขียนมาโดยตลอดใจช่วงอายุของท่าน

...จากน้ำหยดเล็กๆ ที่หยดลงสู่ผืนดิน รวมเป็นธารน้ำใสไหลล่องเชื่อมไปสู่มหาสมุทร ณ เวลานี้ ไม่เพียงประเทศไทย แต่เป็นทั่วโลกที่ต่างก็ได้รู้จัก “มวยไชยา” มวยหมัดถักแดนใต้... ผลงานจากหยาดเหงื่อแรงกายของ ครูทอง ครูผู้ทอดกายและใจเป็นสะพานเชื่อมตำนานพาหุยุทธ์ เพื่ออนุชนคนรุ่นหลัง ศิษย์มวยไชยาทุกคนจะยังระลึกนึกถึงพระคุณของครูอยู่เสมอ.

ปรมาจารย์เขตร และศิษย์คณะเชื้อไชยา (*ครูทองนั่งอยู่ด้านขวา)
* ครูทองหล่อ ยาและ ถึงแก่กรรม ด้วยโรคมะเร็งปอด เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 สิริอายุรวม 67 ปี


ครูผู้ควรยกย่อง...

อ.กิมเส็ง

อาจารย์กิมเส็ง (สุนทร ทวีสิทธิ์) 
”ไหว้ครูพรหมสี่หน้า”และ”ท่าย่างสุขเกษม”

...อาจารย์กิมเส็ง (สุนทร ทวีสิทธิ์) ครูมวยมากประสบการณ์, นักศิลปะต่อสู้ป้องกันตัว, นักการศึกษา, ครูผู้ปั้นแชมป์มวย, ผู้ดำเนินการและกรรมการ, อาจารย์กรมพละศึกษากลาง นี้เป็นเพียงคำจำกัดความสั้นๆ ที่พอจะบอกเล่าถึง อาจารย์กิมเส็ง ผู้มีความสำคัญและเกี่ยวพันกับวงการมวยไทย ในยุคสมัยรัชกาลที่ 7

...หากบอกเล่าประวัติศาสตร์มวยไชยาแล้ว นับได้ว่าอาจารย์กิมเส็ง เป็นครูมวยคนสำคัญที่สอนมวยให้กับ อาจารย์เขตร และต่อมา อาจารย์เขตร ได้ส่ง ครูทอง ให้ไปเรียนวิชาเพิ่มเติมจาก อาจารย์กิมเส็ง อีกด้วย จึงทำให้ความผูกพันระหว่าง มวยทวีสิทธิ์ กับ มวยไชยา มีความต่อเนื่องกลมกลืนกันทั้งด้านประวัติศาสตร์และกลมวย

...อาจารย์กิมเส็ง เชี่ยวชาญทั้งมวยไทย มวยสากล และดาบไทย หลังจากขึ้นชกมวยอยู่ระยะหนึ่ง ท่านได้ใช้บ้านเป็นที่สอนมวยไทย มีลูกศิษย์มากมายจนก่อตั้งเป็น “คณะทวีสิทธิ์” มีนักมวยในบ้านเป็นแชมป์มวยไทย, มวยสากล ประดับวงการมวยยุคนั้น

...ปี พ.ศ. 2472 – 2482 อาจารย์กิมเส็งรับหน้าที่ดำเนินการจัดมวย และ เป็นกรรมการมวย สนามมวยสวนสนุก ซึ่งทำให้ชื่อเสียงของท่านเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง

...ปี พ.ศ.2477 กระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการ) ได้เชิญ อาจารย์กิมเส็ง เข้ารับตำแหน่งอาจารย์พละของกรมพละศึกษากลาง เพื่อสอนวิชามวย ด้วยเหตุนี่ มวยจากสายกรมพละ จึงได้เป็นที่รู้จักและกระจายตัวออกไปทั่วประเทศ โดยนักศึกษาวิชามวยได้นำรูปแบบ เชิงมวยและขนบธรรมเนียมมวยจากท่านอาจารย์กิมเส็งออกไปสอนให้กับนักมวยและค่ายมวยต่างๆ นับเป็นจุดเริ่มต้นของการเผยแพร่ ท่าไหว้ครู “พรหมสี่หน้า” และ “ท่าย่างสุขเกษม” ให้กลายเป็นเอกลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของมวยไทยจนปัจจุบัน

...อาจารย์กิมเส็ง คือครูผู้ทิ้งมรดกทางศิลปวัฒนธรรมฝากไว้กับวงการมวยไทย ครูมวยไทยที่เป็นครูทั้งกายและจิตใจ ท่าไหว้ครูพรหมสี่หน้า และ ท่าย่างสุขเกษม ขนบศิลป์จากท่านจะยังคงอยู่คู่กับมวยไทยไปอีกนานแสนนาน ...ที่น่าเสียดายก็แต่ “วิชาหมัดหงาย” ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นซึ่งผิดแผกไปจากการตั้งท่ามวยจากภาคต่างๆ ทั่วประเทศ อันเป็นเส้นลายสายเดิมแห่งมวยทวีสิทธิ์ กลับไม่ได้รับการสืบทอดส่งต่อ ท่าหมัดหงายกลมวยไม้นี้คงจะเลือนหายไปตลอดกาล.

* อาจารย์กิมเส็ง (สุนทร ทวีสิทธิ์) ถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็งปอด เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2504 สิริอายุรวม 72 ปี


......................................