28/2/55

แม่ไม้ - ลูกไม้

บทความจากนิตยสาร add Free Magazine
ป้องกันและตอบโต้ (ด้วยเคล็ดวิชา มวยไชยา)   ...โดย แหลมทอง ศิษย์ครูทอง


แม่ไม้ - ลูกไม้ (ฉบับที่ 4/พ.ค. 2554)




แม่ไม้ - ลูกไม้  ต่างกันยังอย่างไร?...  อีกาจิกไข่,  ปักษาแหวกรัง,  เถรกวาดลาน,  มอญยันหลัก  ขุนยักษ์จับลิง,  พระเจ้าตานั่งแทน,  นางมณโฑนั่งตัก,  วิรุฬหกกลับ  ฯลฯ   เหล่านี้เป็นกลรุกรับที่มีอยู่ในมวยไทยทุกๆ สาย  บางท่าชื่อต่างกันแต่ท่ามวยตรงกัน  ยังมีท่าไม้มวยที่ไม่เป็นที่รู้จักทั้งยังไม่ถูกตั้งชื่ออีกมาก  บางท่าเพิ่งเกิดขึ้นใหม่ไม่นานมานี้ก็มีครับ   


...แล้วเอาเกณฑ์ อะไรมาจำแนกว่าท่าไหนเป็น  แม่ ท่าไหนเป็น  ลูก  กันล่ะทีนี้?  สำหรับมวยไทยสายอื่นๆ  ผมไม่ถนัดไม่ขอชี้ชัดนะครับ  ขอแนะที่ผมศึกษาอยู่นะครับ  แม่ไม้ – ลูกไม้  ในสายมวยไชยาแบ่งไว้ชัดเจนดังนี้ 


แม่ไม้...  มีเพียงท่าเดียวคือ  ท่าครู  หรือ  ท่าแม่  เป็นท่าหลักที่จะแตกออกไปเป็นท่าอื่นๆ  อีกโดยไม่จำกัด  คิดง่ายๆ นะครับ  แม่คนเดียวเป็นผู้ให้กำเนิดลูกหลายๆ คน  แล้วลูกๆ เหล่านั้นจะไปมีลูกแตกออกไปอีกเราก็เรียกว่าหลาน  หลานจะกี่ร้อยกี่พันคนก็มาจากแม่ที่เป็นต้นสาย  ท่าแม่ไม้ (ท่าครู) ของมวยไชยาจึงเป็นท่าที่สำคัญมากๆ  ผู้เรียนจะต้องฝึกศึกษาท่าแม่ไม้นี่ให้คล่องแคล้วเคลื่อนไหวให้รัดกุมมีพลังเสียก่อนจึงจะแตกเป็นท่าอื่นได้ดีต่อไปครับ  (ท่าครูมวยไชยาเรียก  ย่างสามขุมคลุมแดนยักษ์)

ลูกไม้...  จะมีกี่ท่าก็ได้ตราบเท่าที่ท่าลูกนั้นแตกมาจาก  ท่าแม่  ซึ่งเป็นแกนหลักคุมตัววิชามวยอยู่  ถ้าจะให้เข้าใจง่ายๆ  ก็เหมือนเห็นลูกก็รู้ว่า  เออเด็กคนนี้หน้าตาคล้ายกับแม่เค้านะ  มวยแต่ละสายก็มีท่าแม่ท่าครูแตกต่างกันบ้างไปในรายละเอียด  ซึ่งจะทำให้ท่าลูกไม้ที่คิดค้นขึ้นแตกต่างกันด้วยตามความถนัดจัดเจนความนิยมของแต่ละค่าย  ครู  ภูมิภาค  เช่น  มวยโคราชขึ้นชื่อว่าเตะต่อยหนักหน่วงรุนแรง  มวยไชยาดีทางศอกถนัดเข้าคลุกปล้ำจับหัก  ลีลามวยแต่ละสายมีเอกลักษณ์ต่างกันจึงทำให้เกิดลูกไม้มวยเฉพาะตัวขึ้น 

...แม่ก่อให้เกิดลูก  แม่ที่ดีย่อมได้ลูกที่มีคุณภาพ  
ท่าแม่มวยคาดเชือกมีหลายท่า ไว้จะนำภาพมาให้ชม
วันหน้านะครับ.